การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่กลับไม่ต้องการให้มีการตั้งโครงการดังกล่าวในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่
"ผลสำรวจที่ออกมา อย่างน้อยคนไทยก็ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายก็คงจะชี้แจงข้อดีข้อเสียการก่อสร้างต่อไป จะสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน ผลดีของนิวเคลียร์คือไม่ก่อภาวะโรคร้อน ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ จะเป็นความมั่นคงระยะยาวของประเทศ เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งก๊าซฯ และน้ำมันมีแนวโน้มลดลงและราคาแพงขึ้น" นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการพัฒนา กฟผ.กล่าว
โดยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระบุว่า คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64 เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ร้อยละ 32 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4 ไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนคำถามที่ว่าให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเขตจังหวัดตนเอง ร้อยละ 59 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 32 เห็นด้วย และร้อยละ 9 ไม่ออกความคิดเห็น ขณะที่ผู้ตอบแบบคำถามว่าให้สร้างในเขตชุมชนตนเองหรือไม่นั้น ร้อยละ 66 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 24 เห็นด้วย และร้อยละ 10 ไม่ออกความคิดเห็น
รองผู้ว่าการพัฒนา กฟผ. กล่าวว่า ตามแผนศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น กฟผ.ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา เบิร์นแอนโลว์ มาศึกษาทุกด้านและศึกษาเสร็จเดือน พ.ค.53 และเป้าหมายเดิมจะมีการก่อสร้าง 2 บล็อกในปี 2563-2564 ขนาดกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์
สำหรับการศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายเชื้อเพลิง จากปัจจุบันที่ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าร้อยละ 70 จะเห็นได้ว่าเมื่อเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาเกิดปัญหากับระบบผลิตก๊าซฯ ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน โดยตามแผนจะมีการพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี) 15 ปี ที่จะมีการใช้เชื้อเพลิงหลักทั้งก๊าซฯ ถ่านหิน นิวเคลียร์
รองผู้ว่าการพัฒนา กฟผ. กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบแล้วคงไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ทั้งหมด เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการที่สำคัญควบคู่กันไป ได้แก่ ความมั่นคงหรือความมีเสถียรภาพ ราคาค่าไฟฟ้า และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ได้ลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพีดีพี ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และมีตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายราชการ หน่วยงานด้านการไฟฟ้าทั้ง 3 องค์กร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ตัวแทนนักวิชาการและภาคประชาชน เช่น นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นายพรายพล คุ้มทรัพย์ เข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายจะได้ระดมความเห็นให้พีดีพีเป็นของภาคประชาชน หลังจากนั้นจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้แผนการกระจายเชื้อเพลิงที่มีความจำเป็นต่อประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนมากขึ้น