รายงาน "Moody's Weekly Credit Outlook" ระบุว่า การที่ อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟไชน่า (ICBC) จากประเทศจีนตกลงซื้อหุ้น ACL จาก ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะช่วยส่งเสริมลู่ทางในการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรระหว่างสถาบันการเงินท้องถิ่นและสถาบันระดับโลก
นอกจากนี้ ธนาคารต่างประเทศควรจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานการกำกับดูแลมากขึ้น เนื่องจากมูดีส์คาดว่า ธนาคารต่างประเทศและสถาบันการเงินท้องถิ่นจะเดินไปในทิศทางของการควบคุมดูแลเชิงกลยุทธ์และบริหารในส่วนของกิจกรรมของธนาคารมากขึ้นผ่านทางกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วโลก ระดับของสภาพคล่องหรือการให้การสนับสนุนเงินทุนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นความเชื่อมั่นที่เป็นบวกสำหรับธนาคารที่ได้ขายหุ้นไป
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ICBC ได้ตกลงซื้อหุ้นจำนวน 19.3% ใน ACL จากธนาคารกรุงเทพ นอกจากนี้ ICBC ยังตั้งใจที่จะยื่นข้อเสนอซื้อหุ้น 30.6% ที่ถือโดยกระทรวงคลังด้วย ในขณะที่ ACL มีส่วนแบ่งตลาดในไทยต่ำกว่า 1%
ทั้งนี้ ธนาคารของจีนระบุว่า สนใจถือหุ้นใหญ่ที่ 51% หรือมากกว่านั้น ขณะที่พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินของไทยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้มากสุดที่ 49% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 25% โดยปัจจุบัน ธนาคารต่างประเทศสามารถถือหุ้นมากขึ้นในธนาคารที่มีเงินทุนไม่พอเพียง แต่ต้องหลังจากที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการเท่านั้น
เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคลังของไทยได้อนุมัติแผนการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในการขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) หรือ SCIB จำนวน 47.6% ส่งผลให้มีการคาดการณ์ในตลาดว่า สถาบันการเงินระดับโลกหลายราย โดยเฉพาะธนาคารแห่งโนวาสโกเทียของแคนาดาที่สนใจซื้อหุ้นของ FIDF
เมื่อพิจารณาจากความสนใจที่แรงกล้าของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะขายหุ้นในองค์กรที่รัฐบาลเป็นเจ้าของนั้น คาดว่าการเข้ามาลงทุนในภาคสถาบันการเงินของไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในระยะกลาง หากว่าราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็มีแนวโน้มว่านักลงทุนจะเข้าซื้อหุ้นของรัฐบาลในธนาคารอื่นๆ