นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่า รฟท.อยู่ระหว่างการประเมินค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) ซึ่งจะรวมถึงค่าประกันภัยขบวนรถและผู้โดยสาร และค่าบริหารจัดการสถานี เบื้องต้นคาดว่าอาจต้องใช้วงเงินเกิน 500 ล้านบาท โดยรฟท.จะเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระหว่างที่แนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกยังไม่มีข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ เพื่อจะคัดเลือกเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแต่ละสถานี โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาคัดเลือกเอกชนได้ในเดือน พ.ย.นี้ โดยกำหนดอายุสัญญา 5 ปี เพื่อให้สถานีแต่ละแห่งมีร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก ทันกับการเปิดใช้โครงการแอร์พอร์ตลิงค์อย่างเป็นทางการ ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนเม.ย.53 และคาดว่าในปีแรกจะมีรายได้เชิงพาณิชย์ประมาณ 100-200 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 500-600 ล้านบาท ในปีที่ 4 และ ปีที่ 5
ส่วนการให้บริการโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ คาดว่าในปีแรกจะประสบปัญหาการขาดทุน แต่ปริมาณผู้โดยสารจะทยอยเพิ่มขึ้น และตั้งแต่ปีที่ 5 รฟท.จะเริ่มมีความสามารถใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย และตั้งแต่ปีที่ 15 จะชำระหนี้สินได้ทั้งหมด
นายยุทธนา ยังกล่าวถึงการเปิดให้ประชาชนทดสอบการให้บริการโครงการแอร์พอร์ตลิงค์วันนี้(7 ต.ค.)เป็นวันแรกว่า มีประชาชนสนใจเข้าร่วมการทดสอบกว่า 400 คน ทำให้ รฟท.เห็นว่าสิ่งใดควรต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนเปิดให้บริการจริง ซึ่งในขณะนี้ คือ จุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะต้องจัดให้มีเพียงพอต่อความต้องการ และความตรงเวลาของขบวนรถในแต่ละสถานี
สำหรับการตรวจสอบสาเหตุกรณีขบวนรถไฟด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพ ประสบเหตุตกรางที่อำเภอหัวหินเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 12 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะรายงานต่อกระทรวงคมนาคม พร้อมกับรายละเอียดอัตรากำลัง ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่ามีความต้องการพนักงานฝ่ายเดินรถ ช่างกล และช่างโยธากว่า 200 คน