นางเซติ อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียเปิดเผยว่า นโยบายการเงินที่มีการนำมาใช้จะต้องสามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยในขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซียเริ่มฟื้นตัว การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควรจะส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว
ผู้ว่าการแบงค์ชาติมาเลเซียกล่าวว่า ในขณะนี้ เรายังไม่เห็นความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อหรือภาวะฟองสบู่แต่อย่างใด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของมาเลเซียที่ 2% นี้ไม่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และเราเองก็ยังมีความสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ด้วยจุดยืนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า มาเลเซียคงจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G-20 ที่ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเป็นประเทศแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก
ผู้ว่าการแบงค์ชาติมาเลเซีย กล่าวว่า ในช่วงของการฟื้นตัวระยะแรกเริ่มนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งไปจนถึงปีหน้า และคาดว่าจะเป็นการขยายตัวอย่างยั่งยืน ส่วนสกุลเงินริงกิตของมาเลเซียก็คงจะแข็งค่าต่อไปหากว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น
ขณะที่ โจอันนา ตัน นักเศรษฐศาสตร์ของฟอร์คาสท์ สิงคโปร์ กล่าวว่า แม้ความเสี่ยงช่วงขาขึ้นด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ แต่ธนาคารกลางออสเตรเลียก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มไม่มากนักที่ธนาคารกลางมาเลเซียจะขึ้นดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ดังนั้น แบงค์ชาติมาเลเซียคงจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ และอาจจะกลับมาใช้นโยบายคุมเข้มในช่วงต้นปีหน้า
บลูมเบิร์กรายงานว่า เงินริงกิตแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 7% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ขณะที่ยอดส่งออกและการผลิตที่ร่วงลงเริ่มที่จะชะลอตัว โดยเมื่อเวลา 9.53 น.ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เงินริงกิตซื้อขายกันอยู่ที่ 3.3960 ดอลลาร์ต่อริงกิต เพิ่มขึ้น 0.6% จากระดับปิดเมื่อวานนี้