ศูนย์วิจัย SCB คาดเบิกจ่ายงบ"ไทยเข้มแข็ง"ไม่กดดันอัตราดอกเบี้ยในปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2009 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) เปิดเผยว่า จากการประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2(SP2) หรือ การลงทุนภาครัฐตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มูลค่ารวม 1.4 ล้านล้านบาท คาดว่าในปี 53 จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณราว 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งโดยรวมแล้วระดับการใช้จ่ายของภาครัฐจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 52 มากนัก เพราะวงเงินนอกงบประมาณจาก SP2 ในปี 53 ส่วนหนึ่งจะมาชดเชยวงเงินในงบประมาณที่ลดลง ดังนั้น แรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในระยะยาวจะไม่มากอย่างที่คิด

แต่โครงการ SP2 ทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท มีโครงการที่ยังไม่พร้อมดำเนินการซึ่งต้องศึกษาเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า Tier-2 และ Tier-3 อยู่ราว 4 แสนล้านบาท จึงเหลือโครงการที่จัดอยู่ในประเภทพร้อมดำเนินการ(Tier 1) ราว 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่ใช่ทุกโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในระยะอันใกล้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนด้านแหล่งเงินทุนและลักษณะโครงการ เช่น งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท คาดว่าจะมาจากรัฐวิสาหกิจและเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก

สำหรับแหล่งเงินทุนที่มีความชัดเจนมีอยู่ราว 7 แสนล้าน โดยส่วนแรก 3 แสนล้านบาทที่ชัดเจนที่สุด มาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่เดิมมีวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท แต่กันไว้ชดเชยเงินคงคลังราว 1 แสนล้านบาท ส่วนที่สองอีก 4 แสนล้านบาทจะมาจาก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้แก้ไขในบางมาตรา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องมาตัดสินอีกทีว่าจะแก้ไขตามที่วุฒิสภาเสนอหรือไม่

และจากโครงการส่วนที่มีความชัดเจนของแหล่งทุนที่สุด 3 แสนล้านบาท SCB EIC คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้จริงราว 2 แสนกว่าล้าน โดยหากให้โครงการก่อสร้างถนนและอาคารมีอัตราการเบิกจ่ายเท่ากับที่เคยทำได้จริงในอดีต และให้โครงการอื่นๆ เบิกจ่ายได้เท่ากับงบลงทุนในงบประมาณประจำปี จะได้ตัวเลขเบิกจ่ายประมาณ 2 แสนล้านบาทในปี 53 แต่หากให้รัฐเบิกจ่ายได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยทำได้คือให้ทุกโครงการเบิกจ่ายได้ 80% ในปีแรกจะได้ตัวเลขเบิกจ่ายราว 2.4 แสนล้านบาท หากเทียบกับวงเงินในงบประมาณปี 53 ที่ลดไปจากงบประมาณปี 52 ราว 2 แสนล้านบาทจะทำให้เห็นได้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐไม่น่าเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดของแต่ละโครงการตามประเภทต่างๆ พบว่า โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการก่อสร้าง 40% และกิจกรรมการจัดจ้างและอบรม 38% และการจัดซื้ออุปกรณ์ 15% ดังนั้น จึงน่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน เช่น ซิเมนต์ เหล็ก หิน รวมทั้งการจ้างงานในชุมชนที่เกิดจากการทำโครงการที่เน้นการจัดจ้าง เช่น การจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1,600 แห่งทั่วประเทศ

และภาพรวม SCB EIC คาดว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แม้มีแนวโน้มจะเพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 43% ไปถึงระดับสูงสุดที่ 61% ในปี 57 แต่น่าจะค่อยๆ ลดลง โดยเป็นผลจากอัตราการเติบโตของ GDP เป็นหลัก ไม่ใช่การลดลงของระดับหนี้โดยตรง

โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในระยะแรก เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่สำหรับงบประมาณในส่วนถัดไปกว่าจะเบิกจ่ายจริงก็คงใช้เวลาอีกพอควร เมื่อถึงตอนนั้นเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นแล้ว และคงไม่ต้องการโครงการกระตุ้นระยะสั้นอีก ดังนั้น โครงการใหม่ๆ ต่อจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ