(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 68.4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2009 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 68.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 67.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.0

"ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แล้ว" นายธนวรรธนื พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าว

ปัจจัยบวกมาจากการปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 53 จะขยายตัว 3.3% และการปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยของเงินบาท

ขณะที่มีปัจจัยลบจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 52 จะขยายตัวติดลบ 3.0%, ความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง, การส่งออกในเดือน ส.ค.ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ ความกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลทุ่มงบประมาณอีก 1.43 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกในรอบที่สอง และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวก แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานในอนาคตได้

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่าการบริโภคในช่วงไตรมาส 4/52 ยังไม่ขยายตัวมากนัก แต่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/52 เพราะถึงแม้ดัชนีทุกรายการจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับกว่าปกติที่ 100 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้การจ้างงานยังไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรจะเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า ผลสำรวจในเดือน ก.ย.ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาผลกระทบเกี่ยวกับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามจากการสำรวจในเดือน ต.ค.52 ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งชะลอ 76 โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากปัญหายืดเยื้อออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีจะส่งผลกระทบให้จีดีพีในปี 53 หดตัวลดลง 0.5-1.0% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% ส่วนผลกระทบที่มีต่อไตรมาส 4 ของปีนี้จะทำให้จีดีพีลดลง 0.5% และทำให้จีดีพีทั้งปี 52 ลดลง 0.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ