(เพิ่มเติม) ธปท.รับเข้าไปดูแลเงินบาทหลังแข็งค่าเร็วเกินไป-แห่ส่งออกทองกดดันบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2009 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทอยู่ในขณะนี้เนื่องจากเห็นว่ามีการแข็งค่าเร็วเกินไป และเกินกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จึงขอเตือนว่าอย่าเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท เพราะ ธปท.จับตาดูอยู่ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับค่าเงินทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรจะทำประกันความเสี่ยงไว้ทั้งสองด้าน เพราะเงินบาทคงไม่แข็งค่าข้างเดียว

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีเงินไหลเข้ามาแล้ว 6 หมื่นล้านบาท เทียบกับกับทั้งปี 51 มีเงินไหลเข้ามา 1.6 หมื่นล้านบาท และไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ประกอบกับเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางอ่อนค่า

และล่าสุดในช่วงนี้มีการส่งออกทองคำของรายย่อยไปขายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาทองในตลาดโลกพุ่งทำสถิติสูงสุด เมื่อได้เงินเป็นดอลลาร์มาก็นำมาแลกเป็นเงินบาท ทำให้ความต้องการเงินบาทมีมาก

"แบงก์ชาติก็ดูแลอยู่ เพราะเรารู้สึกว่าค่าเงินของเราแข็งไปนิดนึง แข็งค่าเร็วไปเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของเรา"นางสุชาดา กล่าว

นางสุชาดา กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 4% ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่ประเทศอื่น ๆ มีสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าไทย ทำให้ธปท.ต้องเข้าไปดูแลเงินบาท เนื่องจากเศรษฐกิจของเรายังไม่เข็มแข็งมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

อย่างเช่นกรณีของออสเตรเลีย ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นถึง 20% จากต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจมีความร้อนแรง ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์บูม ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานเดือน ก.ย.สูงขึ้นกว่า 4 หมื่นอัตราจากก่อนเดือน ผิดจากที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1 หมื่นอัตรา ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ทำให้เงินไหลเข้าไปลงทุนค่อนข้างมาก อีกทั้งอินโดนีเซียยังมีน้ำมันและพึ่งพาการส่งออกน้อยกว่าไทย

นางสุชาดา กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าอยู่ หลังจากตัวเลขการว่างงานสูงกว่าคาดการณ์ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ลดลง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีคนพูดถึงการจะทำอย่างไรให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยพูดไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าจะยังไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น ยังอยากให้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไปก่อน เพราะความจำเป็นของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขณะที่ประเทศไทยนั้น อัตราเงินเฟ้อยังติดลบ แต่ทั้งหมดขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 22 ต.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ