Hot News In Europe: ECB+BOE คงดบ.-GDP ส่อเค้าโตช้า-ตุรกีร้อนฉ่าประชุมG7+IMF+เวิลด์แบงก์

ข่าวต่างประเทศ Friday October 9, 2009 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวจานร้อนพร้อมเสิร์ฟจากยุโรปตลอดทั้งสัปดาห์นี้อัดแน่นไปด้วยความเคลื่อนไหวในแวดวงเศรษฐกิจล้วนๆ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 1% ตามความคาดหมาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดที่ 0.5% เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังมีนานาสารพันข่าวอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ไปจนถึงการประชุมจี7 ไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี

*IMF คาดเศรษฐกิจยุโรปปีหน้าขยายตัวช้าเพียง 0.3% ขณะ GDP อียูไตรมาส 2 หดตัว 0.2%

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปีว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.3% ในปีหน้า หลังจากที่หดตัว 4.2% ในปีนี้ พร้อมระบุด้วยว่า แม้ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2553 ครั้งล่าสุดนี้จะดีขึ้นกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนก.ค.ที่ว่าจะหดตัว 0.3% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังอ่อนแอกว่าสหรัฐและญี่ปุ่นมาก เนื่องจากธนาคารของประเทศเหล่านี้ยังต้องเดินหน้าแก้ไขหรือยกเครื่องระบบการเงิน

ไอเอ็มเอฟระบุว่า "จังหวะของการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า ขณะที่ภาคการเงินยังคงตึงตัว นอกจากนี้ตลาดแรงงานที่ซบเซาก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวเช่นกัน"

ทั้งนี้ หากแยกตัวเลขการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าของแต่ละประเทศพบว่า เศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในยูโรโซน จะขยายตัวเพียง 0.3% ส่วนเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่เศรษฐกิจอิตาลีจะขยับขึ้น 0.2% แต่สเปนจะยังคงเผชิญภาวะถดถอยต่อไปอีก และเศรษฐกิจส่อเค้าว่าจะหดตัวในอัตรา 0.7% ในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ต.ค.) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรหดตัวลง 0.2% ไตรมาส 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับที่หดตัว 2.5% ในไตรมาสแรก เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุน และการส่งออกอ่อนตัวลงกว่าตัวเลขที่ได้มีการรายงานก่อนหน้านี้

*ข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปยังผันผวน

ตลอดช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทางการยุโรปได้เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจหลายรายการ โดยมีข้อมูลภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรปประจำเดือนก.ย.ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานปรับตัวลดลง

อุตสาหกรมการผลิตและบริการยูโรโซน: Markit Economics รายงานเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า ดัชนีภาคการผลิตและบริการในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือนก.ย. ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงสุดในรอบ 60 ปี โดยดัชนีในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 51.1 จุด จากระดับ 50.4 จุดในเดือนส.ค. และยังเป็นสถิติที่สูงกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ 50.8 จุด

ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยุโรป: ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยุโรปเดือนก.ย.ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน เนื่องจากเศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณของการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงสุดในรอบกว่า 60 ปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริหารและผู้บริโภคในเขตยูโรโซนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากระดับเดือนส.ค.ที่ 80.8 จุด และยังเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

ยอดค้าปลีก: สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ใน 16 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรปรับตัวลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยถึงแม้ว่าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายสินค้าประเภทอื่นๆกลับลดลงอย่างต่อเนื่องและถ่วงยอดค้าปลีกรวม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงลังเลที่จะใช้จ่ายเงินกับสินค้าที่ไม่จำเป็นในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ

อัตราเงินเฟ้อ: สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (ยูโรแสตท) เปิดเผยว่า ราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ ในยูโรโซน หรือ กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร 16 ประเทศ ปรับตัวลงแตะ -0.3% ในเดือนก.ย. จากระดับ -0.2% ในเดือนส.ค. นับเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ตัวเลขเงินเฟ้อได้ร่วงติดลบ หลังจากที่ในเดือนก.ค. ราคาผู้บริโภคดิ่งลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.7% จากปีก่อน และลดลง 0.1% ในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางยุโรป และทำให้เกิดความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืด

อัตราว่างงาน: ยอดคนตกงานในยุโรปพุ่งแตะ 15.2 ล้านคน หลังสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานว่า อัตราว่างงานใน 16 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องแตะ 9.6% จากระดับ 9.5% ในเดือนก.ค. และถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2542 และนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจหลายประเทศในยูโรโซนกำลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่า อัตราว่างงานยูโรโซนจะพุ่งพรวดแตะระดับ 11.7% ในปีหน้า

โดยในบรรดาประเทศสมาชิกยูโรโซนนั้น สเปนมีอัตราว่างงานสูงที่สุดที่ระดับ 18.9% ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดที่อยู่อาศัยตกต่ำและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซาได้ทำให้บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมทั้งสองต้องลดจำนวนพนักงาน ส่วนอัตราว่างงานต่ำสุดในยูโรโซนอยู่ที่เนเธอร์แลนด์

*จี-7, ไอเอ็มเอฟ, เวิลด์แบงก์ มะรุมมะตุ้มรุมประชุมที่กรุงอิสตันบูล

กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี กลายเป็นเมืองฮอตยอดฮิตขององค์กรพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจระดับโลก ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงซึ่งเปิดประตูต้อนรับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากประเทศต่างๆที่มารวมตัวกันในการประชุมจี-7 ไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ ระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคมที่ผ่านมา

การประชุมจี-7: วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งมากที่สุดในโลก 7 ประเทศ หรือ จี-7 ซึ่งได้แก่ สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, แคนาดา และอิตาลีได้ร่วมกันหารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มจี-7 ชี้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังดีขึ้น แต่ยังไม่อาจไว้วางใจได้ เพราะแนวโน้มการเติบโตยังคงลุ่มๆดอนๆ ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม G-7 ระบุในแถลงการณ์ว่า แม้มีสัญญาณบ่งบอกการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและตลาดแรงงานก็ยังไม่ปรับตัวขึ้น โดยอัตราว่างงานในยูโรโซนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.6% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว IMF ได้คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานยูโรโซนจะขยายตัวสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาเสียอีก

การประชุมไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลก: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกเปิดประชุมประจำปีที่นครอิสตันบูล ตุรกี เพื่อหารือถึงการวางแผนยุทธศาสตร์รองรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและการปฏิรูประบบการเงินทั่วโลก โดยมีรัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และนักวิชาการจากประเทศสมาชิกจำนวนกว่า 1,300 คนเข้าร่วมประชุม

นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ประธานไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่า เศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ไม่มีทางเลยที่จะกล่าวได้ว่าภาวะวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว ในเมื่อเห็นๆกันอยู่ว่า อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งในโอกาสนี้ตนขอเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำอีกหลายประเทศให้ร่วมก้าวผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

ทรรศนะของประธานไอเอ็มเอฟดูจะสอดคล้องต้องกันกับฟากฝั่งของนายโรเบิร์ต โซลลิก ประธานธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ที่กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการกำหนดมาตรการและนโยบายส่งเสริมการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และหาทางป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยเขายอมรับว่า ยังคงมีความเสี่ยงอีกหลายรูปแบบที่โลกต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงจำนวนคนว่างงานที่ทะยานสูงขึ้น กระแสการกีดกันทางการค้า และช่องว่างที่ยังห่างมากระหว่างคนจนและคนรวย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังอาจเผชิญความยากลำบากในปี 2553 เมื่อรัฐบาลหลายประเทศเริ่มชะลอและเลิกแผนใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมดังกล่าวมีกลุ่มผู้ประท้วงกว่า 1,000 คนจากกลุ่มสหภาพแรงงาน Confederation of Revolutionary Workers' Unions, กลุ่มสหภาพการค้าภาครัฐ, กลุ่มสหภาพหอการค้าวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และสหภาพแพทย์รวมตัวกันที่จัตุรัสทักซิมในกรุงอิสตันบูลในช่วงเช้าของวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยทางสถานีโทรทัศน์ของตุรกีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำ รวมถึงสเปรย์พริกไทยสลายการชุมนุม

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ เป็นสององค์กรทางการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2488 และมีสหรัฐและยุโรปเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า การประชุมของไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์รอบนี้จะช่วยส่งเสริมกระบวนการฟื้นตัวในหลายๆ ประเทศ และจะช่วยลดทอนผลกระทบทางสังคมที่สืบเนื่องมาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ