นายปรานาบ มุคเฮอร์จี รัฐมนตรีคลังของอินเดียมองว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ดังนั้นธนาคารกลางอินเดียไม่ควรจะประนีประนอมในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้บริหารระดับนโยบายควรจะสร้างสมดุลในเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่เราควบคุมเงินเฟ้อนั้น เราไม่ควรจะประนีประนอมในเรื่องอัตราการขยายตัวด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ที่สร้างความท้าทายในอินเดียนั้น สะท้อนให้เห็นถึงเสียงจากเจ้าหน้าที่ทั่วโลกที่ต้องการสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวจนอาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลียล่าสุดนี้ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ตามมาว่า ประเทศจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นรายต่อไป
อแลสแตร์ ชาน นักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Economy.com กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตลาดก็คาดการณ์กันว่า ประเทศใดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นรายต่อไป สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้น ธนาคารกลางที่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินมากกว่าเดิมก็มีทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้หรือธนาคารกลางอินเดีย
บลูมเบิร์กรายงานว่า ดุฟวูรี ซับบาราว ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย กล่าวว่า แม้ว่าธนาคารกลางอินเดียจะมีความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องความจำเป็นในการขึ้นต้นทุนการกูยืม แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ และจะดำเนินการอย่างไร
รมว.คลังอินเดียให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์บลูมเบิร์กยูทีวีว่า การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้นั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารกลางอินเดียมีกำหนดประชุมในวันที่ 27 ต.ค.นี้
อินเดียต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นขนานไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ราคาผู้บริโภคก็ปรับตัวขึ้นมากกว่า 10% หลังจากที่ฤดูมรสุมล่าสุดมีฝนตกลงมาน้อยที่สุดในรอบ 37 ปี ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะน้ำฝนถือเป็นแหล่งน้ำหลักในระบบชลประทานของประเทศ ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียก็ชะลอตัว โดยอัตราการขยายตัวในช่วงสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. อาจจะอยู่ที่ประมาณ 6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่อ่อนตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546