เรคกูเลเตอร์ ชี้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ช่วยลดต้นทุน-คนไทยใช้ไฟถูกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 11, 2009 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรคกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากพิจารณาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2007) ที่ระบุว่าจะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 50,000 - 54,000 เมกะวัตต์ ในอีก 15 ปีข้างหน้านั้น ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้น้อยลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ และลดความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้น กกพ.เห็นว่า จะต้องเพิ่มทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะจากพลังงานนิวเคลียร์

โดยค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้ใช้ค่าไฟฟ้าถูกลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ จะมีราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ย่อมส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนต่ำที่สามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่สร้างผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อน เนื่องจากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากแล้ว เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ายังมีอายุประมาณ 2,000 ปี

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ และพลังงานในหลายประเทศได้มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศจีน มีการใช้เชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ถึง 20 % ส่วนประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศสมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์สูงถึง 70% อังกฤษ มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ประมาณ10-20% ซึ่งเป็นการซื้อไฟฟ้ามาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาแม้ว่าประเทศจะมีลิกไนต์จำนวนมาก แต่ก็มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งประชาชนในประเทศสหรัฐฯ เคยกลัวต่อผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ปัจจุบันทางทะเลฝั่งตะวันออกมีโครงการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7-8 โรง

ส่วนความกังวลเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและสามารถนำกากนิวเคลียร์กลับมาใช้ใหม่ได้และคงไม่ใช้เพื่อทำอาวุธสงคราม แต่ท้ายที่สุดต้องมีการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ คือการฝังกลบให้ลึกในใต้ดิน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาพลังงานในอนาคต นอกจากพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งพลังงานลมพบศักยภาพจำนวนมากในจังหวัดลพบุรี และทางภาคใต้ของประเทศ ขณะที่การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันบ้านเรือนที่ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าอีก 8 บาท/หน่วย จากราคารับซื้อไฟฟ้าปกติ 3 บาท/หน่วย ซึ่งคาดว่าจะคืนทุนภายใน 7 ปี หลังจากนั้นในปีที่ 8-9 ผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินในบิลค่าไฟ รวมถึงเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการประหยัดพลังงาน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการใช้พลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ