นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมดูแลการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุน เนื่องจาก ธปท.มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและพร้อมจะเข้าไปดูแลหากค่าเงินมีความผันผวน นอกจากนั้นยังมีนมาตรการสนับสนุนเงินทุนไหลออกไปต่างประเทศ ทำให้มีเงินไหลออกประเทศมากขึ้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ
ธปท.มองว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า นอกจากนั้น ยังมาจากการเก็งกำไรทองคำ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความผันผวนต่อค่าเงินในระยะนี้ เนื่องจากขณะนี้ทองคำไม่ใช่เป็นเพียงการลงทุนเพื่อเก็บออม แต่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่ง จึงทำให้ราคาทองคำผันผวนและเป็นปัจจัยให้เงินบาทผันผวนและแข็งค่าขึ้น ซึ่ง ธปท.ก็ได้ติดตามดูแลเพื่อไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป
"เราก็เข้าไปดูแล หากเห็นว่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบผู้ส่งออกผู้นำเข้าที่ต้องทำธุรกิจ ต้องดูแลไม่ให้มีความผันผวนมาก แต่เงินบาทที่แข็งค่าตอนนี้ยังเกาะกลุ่มกับภูมิภาค ที่ผ่านมาดอลลาร์อ่อนทำให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่า ตอนนี้ทุกประเทศช่วยกันดูแลอยู่"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศ พบว่าช่วงที่ผ่านมามีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยถึง 60,000 ล้านบาทเนื่องจากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น นักลงทุนเริ่มมั่นใจเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น ประกอบกับ มีเงินไหลเข้ามาลงทุนโดยตรง(FDI) ใกล้เคียงจากปี 51 ไม่ได้ลดลงไปแม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยยังเกินดุลชำระเงิน และดุลการค้า เนื่องจากการส่งออกหดตัวน้อยลง และการนำเข้าก็ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไม่ควรคาดหมายทิศทางค่าเงิน เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีความผันผวนและท้ายสุดอาจกลายเป็นความเสี่ยงได้หากค่าเงินไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน
"เราไม่ได้ส่งสัญญาณว่าไม่ให้มีการเก็งกำไร แต่ไม่ต้องการให้มีการคาดหมายว่าเงินบาทจะเป็นไปในทิศทางใด ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หากไม่เป็นไปตามที่คาดจะเป็นความเสี่ยงได้ ผู้ส่งออกและนำเข้าจึงอย่าคาดหมายทิศทางเงินบาท"นางธาริษา กล่าว