ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จับตาบริษัทข้ามชาติร่วมทุนไทยเข้าประมูล3G เปลี่ยนโฉมธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2009 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ความถี่ใหม่ 2.1 GHz ใกล้เคียงกับที่ผู้ให้บริการคาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงไม่น่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะตัดสินใจเข้าร่วมประมูล แต่ต้องจับตาบริษัทต่างชาติจากจีน อังกฤษ อินเดีย ที่อาจเข้าประมูลโดยร่วมทุนกับบริษัทของคนไทย รวมถึงการรวมกันของกลุ่มธุรกิจไทยเพื่อขอซื้อหุ้นในบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ในปัจจุบันจากรัฐวิสาหกิจต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคม (กทช.) คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน ธ.ค.52 และผู้ให้บริการน่าจะเปิดให้บริการได้ในครึ่งหลังของปี 53

แต่จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา มีประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจน ได้แก่ คุณสมบัติขั้นแรกของผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ในประเด็นการถือครองหุ้นของต่างชาติ แม้จะมี พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว พ.ศ.2542 รองรับ แต่กังวลว่าการให้บริษัทเอกชนที่มีต่างชาติถือหุ้นมีใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เองอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงการห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจไทยที่มีความถี่ที่สามารถให้บริการ 3G ได้ในปัจจุบันเข้าร่วมการประมูล, การผ่อนปรนเงื่อนไขการจ่ายค่าใบอนุญาตเต็มจำนวน และความครอบคลุมการให้บริการ

รวมไปถึง อายุใบอนุญาตที่ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเป็น 20-25 ปี เนื่องจากการลงทุนในระบบ 3G ต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะคุ้มทุนภายใต้กรอบอายุใบอนุญาต 15 ปี ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเป็นฝ่ายรับภาระค่าบริการที่สูง และความไม่ชัดเจนเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต

"เป็นโจทย์ให้ กทช. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยตรงพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ ซึ่ง กทช.คาดว่าจะสามารถสรุปหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลได้ก่อนการเปิดประมูลในเดือนธันวาคม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะที่ร่างสรุปข้อสนเทศที่ กทช.ออกมายังมีประเด็นที่ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง ได้แก่ ราคาเริ่มต้นประมูลที่ กทช.กำหนดกรอบในเบื้องต้น 3.3-6.6 พันล้านบาท, มาตรการสำรองของ กทช.กรณีจำนวนผู้ประมูลน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต, คุณสมบัติขั้นแรกของผู้เข้าร่วมประมูลทั้งในแง่การถือหุ้นของต่างชาติ และการห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจไทยที่ถือครองความถี่ที่สามารถให้บริการ 3G ได้ในปัจจุบันเข้าร่วมประมูล, โครงสร้างการแข่งขันภายหลังการออกใบอนุญาต 3G ซึ่งต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณาเนื่องจากเกี่ยวพันถึงความมั่นคงและประโยชน์ของชาติ ซึ่ง กทช.จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์อีกครั้งในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

"การหาข้อสรุปต่อประเด็นข้างต้นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดกรอบเวลาเริ่มประมูลของ กทช.ว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันในช่วงเดือนธันวาคมนี้หรือไม่" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าประโยชน์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ความถี่ใหม่ 2.1 GHz นั้นในด้านผู้ให้บริการแล้วจะช่วยรองรับความต้องการใช้บริการเสริมที่เพิ่มขึ้น อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันในตลาดบริการเสริม ทั้งยังอาจเพิ่มรายได้ของบริการเสริมให้แก่ผู้ให้บริการ แต่ยังมีหลายประเด็น

"ระบบ 3G น่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมาย ซึ่งไทยถือว่าเป็นประเทศท้ายๆ ที่เปิดใช้ 3G จึงทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศที่โทรคมนาคมถือเป็นรากฐานสำคัญ ดังนั้นการเปิดประมูล 3G จึงควรเร่งดำเนินการ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ระยะแรกของการเปิดใช้ระบบ 3G อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดบริการเสริมในปี 53 ไม่มากนัก คาดว่าสัดส่วนรายได้บริการเสริมน่าจะเติบโตจนมีสัดส่วน 17-19% ของรายได้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าตลาดบริการเสริมตลอดปี 53 ประมาณ 2.8-2.9 หมื่นล้านบาท และขยายตัวประมาณ 16-17% จากปี 52 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากปัจจุบันตลาดผู้ใช้บริการเสริมยังมีจำกัด และการรับรู้รายได้จาก 3G อาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ดังนั้นผลของ 3G ที่มีต่อตลาดบริการเสริมน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นในปีถัดไปหากผู้ให้บริการสามารถขยายตลาดผู้ใช้บริการเสริมได้ โดยผู้ให้บริการควรจะมีการปรับปรุงคอนเทนต์ให้หลากหลายตรงความต้องการและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ