ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจลงมติตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมและตัดสินใจที่จะยุติการใช้นโนบายช่วยเหลือด้านสินเชื่อแบบฉุกเฉินในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจเริ่มถอนตัวจากการกู้ยืมเงินจากกองทุนภาคเอกชน
นักวิเคราะห์จากโพลล์สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการบีโอเจและเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายอาจลงมติเห็นชอบโครงการซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนให้สิ้นสุดลงตามกำหนดระยเวลาในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ พร้อมทั้งคาดว่า บีโอเจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.1% ต่อไป
โดยนายชิรากาว่ากล่าวถึงความจำเป็นในการปรับลดจำนวนการซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ภาคเอกชนของธนาคาร โดยให้เหตุผลว่า ธนาคารกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อยุติการดำเนินนโยบายดังกล่าว หลังจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของบีโอเจ (ทังกัน) ระบุว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจสามารถกูเงินจากธนาคารต่างๆได้ง่ายขึ้นในช่วงที่วิกฤตสินเชื่อเริ่มคลี่คลาย
ไอซูรุ คาโต้ นักวิเคราะห์จากโทแทน รีเสิร์ช โคในญี่ปุ่นกล่าวว่า "บีโอเจส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการยุติโครงการดังกล่าว โดยชี้ว่าการยุติโครงการนี้จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก"
บลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 11:42 น.ตามเวลาโตเกียว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.29% ขณะที่เงินเยนเทรดที่ 89.84 เยน/ดอลลาร์ จาก 89.82 เยน/ดอลลาร์ และต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 88.01 เยน/ดอลลาร์
ทั้งนี้ หลังจากที่บีโอเจได้ปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.1% ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้เริ่มซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ภาคเอกชนจากสถาบันปล่อยกู้พร้อมทั้งเสนอเงินกู้ไม่จำกัดเพดานให้แก่บริษัทต่างๆอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้ขยายเวลาใช้นโยบายดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ในการประชุมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของบีโอเจระบุว่า บริษัทรายใหญ่เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายกว่าเมื่อ 3 เดือนก่อน รวมถึงปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทรายเล็กยังคงมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยากกว่าเมื่อเดือนธ.ค.
บลูมเบิร์กรายงานว่า ความเคลื่อนไหวในการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของญี่ปุ่นมีขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มคลายความเข้มงวดในการใช้มาตรการในตลาดสินเชื่อ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกเริ่มมีเสถียรภาพ โดยเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศแผนการปรับลดโครงการออกเงินกู้ภาคธนาคาร ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยุติการอัดฉีดสภาพคล่องให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่มีอยู่จำกัด