งบไทยเข้มแข็งก๊อกแรก 2 แสน ลบ.เข้าคิวรอลงทุนพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2009 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังนำเสนอแผนลงทุนไทยเข้มแข็งฉบับเพิ่มเติม 2.4 แสนล้านบาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ หลังรัฐกดปุ่มเบิกจ่ายเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เพื่อผลักดันโครงการลงทุนภาครัฐตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่มีความกังวลเกี่ยวกับเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลรอบนี้อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง เพราะขาดความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบการใช้จ่าย อีกทั้งการควบคุมให้ปลอดทุจริตยังเป็นโจทย์สำคัญ

เม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมอีก 2.4 แสนล้านบาทเบื้องต้นจะนำไปใช้สำหรับโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร 40,000 ล้านบาท โครงการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม 23,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบเพิ่มเติมอีกกว่า 25,000 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ เช่นโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์

และจากการที่รัฐบาลได้รับอนุมัติการกู้เงินภายในปี 53 ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น 5 หมื่นล้านบาทแรกจะกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลังที่นำไปใช้จากการขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 52 ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาทจะนำไปใช้เพื่อการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะนำเสนอต่อ ครม.วันนี้ด้วย

เม็ดเงินลงทุนก้อนแรก 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลต้องการเร่งผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ภายในปี 53 โดยมีเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินให้ได้ 85% จึงเป็นแบบทดสอบด่านแรกของรัฐบาลที่จะพิสูจน์ฝีมือให้เห็นความสามารถป้องกันการทุจริตการรั่วไหลของเม็ดเงิน หลังจากเพียงเวลาไม่นานที่ได้เริ่มดำเนินโครงการก็พบความไม่ชอบมาพากล จากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และนำไปสู่การประกาศลาออกของทีมที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข หวังสร้างความมั่นใจ ให้การตรวสอบทบทวนโครงการเกิดความโปร่งใส แต่ข้อมูลลึกๆ ยังพบว่ามีกลุ่มนักการเมืองมาเอี่ยวด้วยแน่นอน แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาก็ตาม

ดังนั้น โครงการลงทุนรอบนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์คงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าหัวใจหลักของคำว่าประชาชนต้องมาก่อน และการปกป้องเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไม่ให้กลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของนักการเมืองอย่างที่ประกาศไว้จะทำได้จริงอย่างไร โดยเฉพาะการรับมือจากแรงเสียดทานของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเม็ดเงินที่ยังเหลืออีก 1 ล้านล้านบาทจะเป็นแบบทดสอบสำคัญต่อความอยู่รอดในการบริหารนโยบายและการทำงานของรัฐบาล

*เม็ดเงินงวดแรก 2 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนใน 11 สาขา 230 โครงการ

กระทรวงต่างๆ เสนอโครงการที่มีความพร้อมจะเริ่มปักหลักลงทุนได้ทันที ภายใต้วงเงินลงทุนงวดแรก 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 สาขา จำนวน 230 โครงการ ประกอบด้วย

          สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร         9  โครงการ  วงเงินลงทุน 59,273.26 ล้านบาท
          สาขาขนส่ง                        14  โครงการ  วงเงินลงทุน 39,942.04 ล้านบาท

สาขาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว 5 โครงการ วงเงินลงทุน 2,001.67 ล้านบาท

          สาขาการศึกษา                     31  โครงการ  วงเงินลงทุน 43,985.43 ล้านบาท
          สาขาสวัสดิภาพของประชาชน           11  โครงการ  วงเงินลงทุน  6,800.13 ล้านบาท
          สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี         1  โครงการ  วงเงินลงทุน    185.00 ล้านบาท
          สาขาสิ่งแวดล้อม                     3  โครงการ  วงเงินลงทุน    689.20 ล้านบาท
          สาขาพัฒนาการท่องเที่ยว              16  โครงการ  วงเงินลงทุน  2,166.44 ล้านบาท
          สาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์           2  โครงการ  วงเงินลงทุน    250.00 ล้านบาท
          สาขาการลงทุนในระดับชุมชน           93  โครงการ  วงเงินลงทุน 31,503.26 ล้านบาท

สาขาพัฒนาด้านสาธารณสุข

          พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน               28  โครงการ  วงเงินลงทุน 12,073.55 ล้านบาท

สาขาพัฒนาด้านสาธารณสุข พัฒนาบุคลากร 17 โครงการ วงเงินลงทุน 1,090.62 ล้านบาท

การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ โครงการถนนปลอดฝุ่น โครงการบำรุง บูรณะ และเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ/หมอชิต-สะพานใหม่ สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ และโครงการปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร ปรับปรุงสถานีรถไฟทั่วประเทศ ของกระทรวงคมนาคม,

โครงการส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนฯ โครงการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ ทุนการศึกษาภูมิทายาท โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย โรงเรียนอุปถัมภ์ โครงการศูนย์ครูใต้ โครงการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสริมสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อการอยู่ดีมีสุขของชุมชนและสังคมของกระทรวงศึกษาธิการ,

โครงการก่อสร้างอาคารที่พักพยาบาลรองรับพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลเพื่อการจัดบริการด้านสุขภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงสาธารณสุข,

โครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โครงการบริการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ โครงการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำเพื่อการถ่ายโอนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แม้โครงการทั้งหมดจะผ่านการกลั่นกรองเห็นชอบถึง 3 ขั้นตอนจากคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานดำเนินการในขั้นแรก หลังจากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะพิจารณารายละเอียดความพร้อมของโครงการอีกขั้น เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบอนุมัติโครงการ หลังจากนั้นจะมีคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินฯ มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน

หากแบ่งโครงการลงทุนของกระทรวงหลักๆ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ พบว่า กระทรวงเกษตรฯ ที่มีพรรคชาติไทยพัฒนา(ชท.)และพรรคภูมิใจไทย(ภท.)เป็นเจ้ากระทรวง ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 48,000 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ในความดูแลของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ได้รับงบประมาณ 45,389 ล้านบาท, กระทรวงคมนาคมโดยพรรค ภท.และพรรค ชทพ.ได้รับงบประมาณ 39,900 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุขจากพรรค ปชป.และพรรค ภท.ได้รับงบประมาณ 11,515 ล้านบาท

*ผู้เชี่ยวชาญห่วงการเมืองขวางศก.โต-อดีตขุนคลังห่วงไทยเข้มแข็งยืดใช้งบเป็น 10-15 ปี

แม้แผนการลงทุนภาครัฐตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการต่อยอดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการระยะสั้นกระจายเงินสู่กระเป๋าประชาชนเป็นมาตรการระยะปานกลาง เน้นโครงการลงทุนที่พร้อมทำได้ทันที ซึ่งพบว่าโครงการส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการขนาดเล็กๆ เพื่อความรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กดูเหมือนเป็นการหว่านเม็ดเงินให้กระจายวงกว้างขึ้น แต่คงไม่ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริงมากกว่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนได้มากกว่า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีความเห็นว่าการที่รัฐบาลเลือกลงทุนในโครงการขนาดเล็กและขนาดกลาง มากกว่าโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องการให้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง แต่หลังจากนั้นรัฐบาลจะเริ่มการลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดและมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง น่าจะเป็นแนวทางเพื่อให้รัฐบาลได้นำไปปรับปรุงแนวคิด วิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดความรัดกุม รอบคอบ และมองไปข้างหน้ามากขึ้น

แม้ว่าความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นการบริโภค การลงทุนในประเทศให้กลับมาขยายตัวได้โดยเร็ว แต่ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังเกิดความขัดแย้งในสังคม และจากข้อจำกัดของการทำงานของรัฐบาลภายใต้พรรคผสม

"โครงการลงทุนครั้งนี้ถูกจับตามองกันว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง หรือเป็นเพียงนโยบายที่ต้องการหว่านเม็ดเงินให้ถึงมือพรรคร่วมรัฐบาลอย่างทั่วถึง เพื่อหวังผลขยายฐานทางการเมืองในอนาคต"นายเอกนิติ กล่าว

ขณะที่อดีต รมว.คลัง นายทนง พิทยะ มองแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นความหวังของประชาชน แต่ไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงภายในเวลา 3 ปี เพราะข้อจำกัดในทางปฏิบัติทางราชการ ระเบียบทางราชการที่มีอุปสรรค ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน ซึ่งเห็นได้จากในอดีต โครงการลงทุนภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่หรือเล็ก ไม่เคยมีโครงการใดที่สามารถจะลงทุนได้ตามแผนงานที่กำหนดได้จริง

"ที่กำหนดการลงทุนไว้ 3 ปี อาจจะขยายไปถึง 10-15 ปี ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"นายทนง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ