นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐชี้ผลงานวิจัยเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้เป็นประโยชน์ต่อศก.ปัจจุบัน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 13, 2009 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนในสหรัฐมองว่า งานวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ (economic governance) ของโอลิเวอร์ วิลเลียมสัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่เพิ่งคว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2009 นั้น เป็นงานวิจัยที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐ และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงจีน

"วิลเลียมสันได้ทุ่มเทเวลาในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ อีกทั้งศึกษาแนวทางการกำหนดขอบเขตบริษัทเอกชน ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่าบริษัทขนาดใหญ่นั้นควรจะมีขอบเขตเท่าใด วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการจัดตั้งองค์กรให้เป็นระบบ" ริชาร์ด ลีอองส์ อธิการบดีวิทยาลัยธุรกิจฮาอาส ในสังกัดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าว

ด้านนายเจอร์ราด โรแลนด์ ประธานสำนักงานเศรษฐกิจแห่งยูซี เบิร์คลีย์ เชื่อว่า ผลงานการวิจัยของวิลเลียมสันมีความสอดคล้องและเป็นประโยชน์กับการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน

"วิลเลียมสันได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน เขามีความเข้าใจเรื่องผลกระทบของกฎข้อบังคับและกฎหมายที่มีต่อเศรษฐกิจในองค์กรและในสังคมอย่างลึกซึ้ง งานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลของเขาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจีน เมื่อจีนเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจ คำถามที่ตามมาก็คือกลไกตลาดเข้ามามีบทบาทมากน้อยเพียงไร บริษัทขนาดใหญ่ควรถูกลดขนาดให้เล็กลงหรือไม่ และการจัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้องควรทำอย่างไร คำถามเหล่านี้วิลเลียมสันได้ศึกษาและตีโจทย์อย่างแตกฉาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับจีนมาก" โรแลนด์กล่าว

เอลินอร์ ออสตรอม และ โอลิเวอร์ วิลเลียมสัน สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2009 ไปครอง จากผลงานการวิเคราะห์เรื่องธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ (economic governance) โดยออสตรอมถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลนี้นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งรางวัลโนเบลสาขานี้ขึ้นในปี 1968

ภายหลังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามวิลเลียมสันว่า งานวิจัยของเขาทำให้ประชาชนกลับไปเผชิญกับปัญหาต่างๆที่เป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันหรือไม่ เขาตอบว่า "นักเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่มองประเด็นต่างๆ เช่นเงินเฟ้อ การจ้างงาน และผลผลิตภายในประเทศ น่าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการตอบคำถามนี้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบถือเป็นแนวทางที่ควรได้รับการสนับสนุน สำนักข่าวซินหัวรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ