นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะทำให้ราคายางพาราอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 80 บาท/กก. โดยยืนยันว่าการออกมาประกาศราคาล่วงหน้านี้ไม่ถือเป็นการปั่นราคา แต่เป็นความต้องการให้ชาวสวนยางและพ่อค้ายางได้เตรียมการล่วงหน้า
"อย่าไปพูดว่ากดดันตลาด เอาเป็นว่า เป็นการบอกตลาดไว้ก่อนให้ทุกฝ่ายเตรียมตัว ระมัดระวัง จะได้ไม่มีใครบาดเจ็บ...ไม่ได้ปั่นราคา แต่เป็นการชี้นำให้เห็นเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งวันข้างหน้าก็จะทำกับพืชเศรษฐกิจตัวอื่นในลักษณะเดียวกัน" นายสุเทพ กล่าว
ขณะนี้ปริมาณการความต้องการยางพารากับปริมาณการผลิตอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่ความต้องการใช้ยางพารามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สัดส่วนสินค้าที่ต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบมีราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลจะเตรียมมาตรการรองรับ โดยมั่นใจว่าก่อนสิ้นเดือนก.พ.53 มาตรการทุกอย่างจะเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้ 8,000 ล้านบาท เพื่อมอบให้แก่ชาวสวนยางไปจัดรวบรวมทำสต็อกยางพารา โดยตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนตัน ขณะที่ภาคเอกชนจะทำสต็อกยางพาราไว้อีกส่วนหนึ่งเช่นกัน เพื่อเตรียมรองรับให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น
นายศุภชัย โพธิสุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากความต้องการพื้นที่เพาะปลูกยางพาราที่เพิ่มมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มอีก 1-2 ล้านไร่ เพื่อสนองต่อความต้องการของชาวสวนยางรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานซึ่งมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มากขึ้น
ส่วนการส่งเสริมให้มีพื้นที่เพาะปลูกยางเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยนั้น รมช.เกษตรฯ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบให้ราคายางตกต่ำ เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางพารามีมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยเรื่องพื้นที่เพาะปลูกยางในมาเลเซีย และทางภาคใต้ของไทยลดลง เพราะมีการหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น
ล่าสุดวันนี้ ราคายางพาราที่ตลาดกลางหาดใหญ่เป็นดังนี้ ราคายางแผ่นดิบ 71.85 บาท/กก. ส่วนราคายางแผ่นรมควัน 74.05 บาท/กก. โดยเชื่อว่าภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ อาจได้เห็นราคายางแผ่นไปแตะที่ระดับ 80 บาท/กก.ได้
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการจำหน่ายยางพาราในตลาดต่างประเทศว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพาราเอง เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางพารา เช่น จีน ญี่ปุ่น
โดยเฉพาะจีนที่ได้เตรียมแผนพัฒนาการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ โดยตั้งเป้าเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดในโลก และจำเป็นต้องนำเข้ายางพาราเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการส่งออกยางพาราของไทย