ธ.แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ฯ มองศก.ไทยปีนี้หดตัว 3.5% และเป็นบวก 2.8%ปี53

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2009 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์(ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มากกว่าจะฟื้นตัวในลักษณะรูปตัว V โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 จะหดตัว 3.5% และจะพลิกกลับมาขยายตัวราว 2.8% ในปี 53 จากนั้นในปี 54 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 4.5%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นต้องระมัดระวัง 3 ปัจจัย คือ เสถียรภาพการเมืองที่ยังไม่นิ่ง วัฎจักรของการลงทุนใหม่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว และการกลับมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของการส่งออกยังเป็นไปได้ยาก

น.ส.อุสรา กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองไทยที่ยังไม่มีเสถียรภาพจะส่งผลให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 53 เป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับการขยายตัวของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพราะเรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทำให้ไม่ฟื้นตัวเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนจะยังไม่ขยายตัวดีขึ้น

ขณะที่กำลังการผลิตส่วนเกินภายในประเทศยังมีอยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำมากเพียง 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ดังนั้น โอกาสที่จะมีการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นไปอย่างช้าๆเช่นกัน

ขณะที่ปัญหาการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะกลายเป็นปัญหาที่จะมีส่วนทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความชัดเชนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

น.ส.อุสรา กล่าวว่า ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญปัญหาต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบมีแนวโน้มลดลงจากการกู้ยืมเงินและการออกพันธบัตรของภาครัฐ ซึ่งมีวงเงินรวมประมาณ 810,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลประมาณ 3.5%ของจีดีพี และเมื่อรวมกับการขาดดุลเงินสดรัฐบาลในปีงบประมาณ 53 จะสูงถึง 6.7%ของจีดีพี

นอกจากนี้ ความต้องการใช้เงินภาคเอกชนคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 945,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อคงค้างในระบบปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อที่ 5 %ในปี 53 จะคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 425,000 ล้านบาท ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดันต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับตัวสูงขึ้นในครึ่งแรกปี 53 เร็วกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ปี 54

"สภาพคล่องส่วนเกินในระบบแบงก์ ล่าสุดมีประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมกับแบงก์รัฐจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท แต่ความต้องการสินเชื่อทั้งระบบทั้งรัฐและเอกชนรวมกันประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดอกเบี้ยจะเร่งขึ้นในครึ่งแรกปีหน้า" น.ส.อุสรา กล่าว

ด้านนายโทมัส ฮาร์ นักวางแผนกลยุทธ์อาวุโส ด้านเงินตราต่างประเทศ กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐในปี 53 ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง แม้จะแข็งค่าน้อยกว่าและช้ากว่าค่าเงินสกุลเอเชียอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ แต่การเมืองไทยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะทำให้เงินไหลเข้าน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

ทั้งนี้ ธนาคารประเมินว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/52 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.80 บาท/ดอลลาร์ และจะแข็งค่าขึ้นในไตรมาส 1/53 ที่ค่าดว่าจะอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์ แต่จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงในปี 53 จากการเร่งนำเข้าสินค้าทุน โดยคาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 15% เทียบกับการหดตัว 25%ในปีนี้ ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวเพียง 5% ในปี 53 เทียบกับการหดตัว 20% ในปี 52 จะเป็นแรงกดันดันสำคัญให้ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ปรับตัวอ่อนค่าลงได้บางมาอยู่ระดับเฉลี่ยที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ