ปธ.แบงก์ ออฟ ไชน่าเตรียมนั่งเก้าอี้รองผอ.IMF ปูทางจีนเพิ่มบทบาทในการปฏิรูปศก.โลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 14, 2009 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จู หมิน รองประธานแบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีน อาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่จะช่วยให้จีนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการปฏิรูประบบการเงินโลกภายหลังวิกฤต

นสพ.ไชน่า บิสิเนส นิวส์ รายงานว่า รัฐบาลจีนเป็นผู้แนะนำนายจูให้ดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสดังกล่าวในไอเอ็มเอฟ โดยมีการคาดหมายว่านายจูจะได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนก่อนรับตำแหน่งที่ไอเอ็มเอฟ

ด้านไชน่า เดลี่ รายงานว่า นายจูอาจรับตำแหน่งรองผู้ว่าแบงก์ชาติจีนในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟต่อไป โดยหนังสือพิมพ์รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า ธนาคารกลางจีนได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วเกี่ยวกับตำแหน่งใหม่ของนายจู

นายจู วัย 56 ปี เป็นนักการธนาคารอาวุโสผู้คร่ำหวอดในแวดวงการธนาคารและมีประสบการณ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งหากเขารับตำแหน่งในไอเอ็มเอฟ ก็จะทำให้เขากลายเป็นชาวจีนคนที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในสถาบันการเงินระดับโลก ต่อจากนายจัสติน หลิน ที่ทำหน้าที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก

ปัง จงหยิง อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน กล่าวกับไชน่า เดลี่ว่า การที่นายจูรับตำแหน่งที่ไอเอ็มเอฟจะเป็นก้าวสำคัญในการสลายอิทธิพลของสหรัฐและยุโรปในเวทีการเงินระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ จีนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการบริหารปกครองที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่าจีน รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เริ่มมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในระดับสากล

โดยในเดือนที่แล้ว กัวะ ฉิงปิง ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ได้กล่าวเอาไว้ว่า จีนต้องการได้เห็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในฝ่ายบริหารของไอเอ็มเอฟเพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับนายจู กวางเหยา รัฐมนตรีช่วยคลัง ซึ่งกล่าวว่า จีนต้องการให้สิทธิในการออกเสียงในไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ ได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในสัดส่วน 50-50

ปัจจุบัน ประเทศพัฒนาแล้วได้สิทธิออกเสียงใน IMF ในสัดส่วน 57% ขณะที่จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆได้สิทธิที่เหลือ ส่วยในเวิลด์แบงก์นั้น ประเทศพัฒนาแล้วมีอำนาจในการลงคะแนนเสียง 56%

รมช.คลังจีนกล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาควรมีสิทธิในการแสดงความเห็นเท่าเทียมกันครึ่งต่อครึ่งในสถาบันทั้งสอง เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนและประเทศเกิดใหม่ในเศรษฐกิจโลก

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีการคาดหมายกันว่า จีนกำลังจะเข้าแทนที่ญี่ปุ่นในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกในช่วงปลายปีนี้หรือปีหน้า



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ