เอ็นจีโอแฉพบเล้วนับ 100 โครงการนอกมาบตาพุดขัด ม.67/เล็งค้านอุทธรณ์-แจ้งความรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เผยผลตรวจสอบเบื้องต้นโครงการลงทุนทั่วประเทศ พบแล้วเกือบ 100 โครงการเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 จากทั้ง 500 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแผน EIA หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 บังคับใช้ เตรียมเดินหน้าตามอย่างกรณีมาบตาพุด ขณะที่คดีเก่าวันนี้เข้าแจ้งความดำเนินคดีหน่วยงานรัฐละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และวันพรุ่งนี้จะยื่นศาลปกครองคัดค้านการอุทธรณ์คำสั่งระงับ 76 โครงการ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นที่ได้ตรวจสอบโครงการทั้งในนิคมและนอกนิคมอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศ พบว่ามีแล้วเกือบ 100 โครงการลงทุนที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 52 ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในกิจการถลุงเหล็ก, โรงไฟฟ้า, ปิโตรเคมี และ ท่าเรือ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล เป็นต้น

"เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ พบว่ามีเกือบ 100 โครงการเข้าข่าย จากที่เราจะตรวจสอบทั้งหมด 500 โครงการ...กระจายกันไปอยู่ทั่วประเทศทั้งในนิคม และนอกนิคมอุตสาหกรรม เป็นพวกโครงการถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี และท่าเรือ" นายศรีสุวรรณ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน

รวมทั้งให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะมีการดำเนินการดังกล่าว

*เตรียมยื่นคำร้องคัดค้านการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า วันพรุ่งนี้(15 ต.ค.) เวลา 13.00 น.จะเดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นเรื่องคัดค้านคำอุทธรณ์ของภาครัฐต่อคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้ระงับการลงทุน 76 โครงการชั่วคราวในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมองว่าการที่รัฐบาลออกมาอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวทำให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป จนไม่มองถึงความสำคัญของวิถีชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าการที่ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนได้ยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าอยู่แล้ว เนื่องจากการเข้าไปลงทุนของเอกชนในกิจการใดก็ตามย่อมต้องศึกษาถึงรายละเอียด เงื่อนไข ข้อบังคับ ตลอดข้อกฎหมายต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะปฏิบัติตามได้มาเป็นอย่างดี และต้องพร้อมยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต "สิ่งที่ศาลปกครองสั่งระงับ ถือเป็นการกระตุ้นเตือนภาครัฐให้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ เข้มงวดให้ภาคเอกชนหันมาตระหนักว่า การทำอุตสาหกรรมต้องอยู่บนพื้นฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่มุ่งแสวงหาแต่ผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว" นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว

*แจ้งความ รมว.อุตสาหกรรม-ผู้ว่าการ กนอ.-ผอ.มาบตาพุด ขัดคำสั่งศาลฯ

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า วันนี้ทางเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปแจ้งความที่ สภ.มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อฟ้องร้องให้ดำเนินคดีกับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม, ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองที่ยังปล่อยให้เดินหน้า 76 โครงการในมาบตาพุด

*เล็งร้อง ป.ป.ช./สตง.ตรวจสอบย้อนหลังถึงสมัยรัฐบาลขิงแก่

นอกจากนี้ ในวันที่ 16 ต.ค.52 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

ในส่วนของ ป.ป.ช.นั้น ทางเครือข่ายฯ จะยื่นฟ้องให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช หนึ่งในกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความให้กระทรวงอุตสาหกรรมให้ใบอนุญาตประกอบกิจการในมาบตาพุดได้ ซึ่งนายจักรมณฑ์ เป็นกรรมการใน บมจ.ปตท.(PTT) ดังนั้น จึงอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ รวมทั้งนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ที่ออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีประกาศให้ 8 ประเภทกิจการเป็นผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

ส่วนกรณีของ สตง.นั้น เครือข่ายฯ จะยื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท ในสมัยที่นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวเพื่อจัดทำแผนการปรับลดมลพิษในช่วงปี 50-54 แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีผลความคืบหน้า ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ