องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติเผยวิกฤตการณ์อาหารในกลุ่มประเทศยากจน ประกอบกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำได้ส่งผลกระทบให้จำนวนผู้ยากไร้ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคขาดสารอาหารจะพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2513 ที่กว่า 1 พันล้านคนในปีนี้
ฌาคส์ ดิอุฟ ประธานของ FAO และโจแซทท์ ชีแรน ประธานของ WFP กล่าวในรายงานประจำปีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ว่า "ทุกประเทศยังขาดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน และผู้ยากไร้ที่ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนมากที่สุด"
นอกจากนี้ ความวุ่นวายในตลาดเงินทั่วโลกยังซ้ำเติมสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิม จากจำนวนผู้หิวโหยที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตอาหารและวิกฤตการเงิน แต่ขณะนี้ ตัวเลขของประขาชนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด
ทั้งนี้ กลุ่มก้อนของผู้ที่ขาดสารอาหารกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากที่สุดถึง 642 ล้านคน รองลงมาคือกลุ่มประเทศแถบทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกาที่ 265 ล้านคน ส่วนลาตินอเมริกาอยู่ที่ 53 ล้านคน ฟากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีจำนวน 42 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีบรรดาผู้หิวโหย 15 ล้านคนอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว
บลูมเบิร์กรายงานว่า วิกฤตการเงินทำให้ต่างชาติลดการช่วยเหลือ และลดการลงทุนในประเทศยากจน รวมถึงการส่งเงินกลับคืนประเทศจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศร่ำรวย
อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นได้เรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและความมั่นคงอาหาร แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดด้านการเงิน พร้อมทั้งเตือนว่า การประชุมสุดยอดด้านอาหารที่มุ่งเป้าลดจำนวนผู้ขาดสารอาหารลงครึ่งหนึ่งให้เหลือราว 420 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2558 นั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผล หากแนวโน้มผู้ยากไร้ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง