ธปท.ประเมินหนี้ NPL พุ่งกว่า 9 หมื่นลบ.-กระทบ BIS หากชะลอมาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 09:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรสิทธ์ สุนทรเกส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า หากโครงการในนิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดไม่สามารถดำเนินการต่อได้คาดว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจจะประสบกับปัญหาการเร่งตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด วงเงินรวมประมาณ 90,000 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ NPL ที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง 0.3% หรือจาก 15.6% ในปัจจุบันลดลงเหลือ 15.3%

แม้ว่า ปัญหาดังกล่าว จะไม่ทำให้ธปท.เกิดความกังวล เพราะระบบธนาคารพาณิชย์ความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและมีปริมาณการกันสำรองหนี้เสียระดับสูง แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ธนาคารก็ต้องรายงานความเคลื่อนไหวมายังธปท.ด้วย

“เราจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินเชื่อแบงก์ แม้ขณะนี้สินเชื่อที่ปล่อยไปยังไม่เป็น NPL ก็ตาม" นายสรสิทธ์ ระบุ

นายสรสิทธ์ กล่าวว่า ธปท.ยังเกิดความกังวลว่า หากโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ดำเนินการต่อไปไม่ได้ เงินสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยจำนวน 90,000 ล้านบาทจะกลายเป็นความสูญเปล่าต่อระบบเศรษฐกิจไทยแทนที่จะนำไปทำประโยชน์ด้านอื่น และมีผลต่อเนื่องไปยังปัญหาการจ้างงานด้วย

ด้านนายเกริก วินิกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า BIS ในระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุด อยู่ที่ 15.9% แยกเป็น T1 12.4% ถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่งมากเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งสามารถรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดจากการปล่อยสินเชื่อได้ระดับสูงขณะที่ธปท.กำหนด ขั้นต่ำไว้ที่ 8.5%

นอกจากนั้นยังมีปริมาณการกันสำรองหนี้ อยู่ในระดับสูง ตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ IAS39 ตั้งแต่ปลายปี 2549 ที่ผ่านมาโดย ณ สิ้นปี 2550 ทั้งระบบมีปริมาณสำรองทั้งสิ้น149,000 ล้านบาทและคุณภาพสินทรัพย์ขณะนี้ยังยู่ในเกณฑ์ที่ดี

“ผลจากการทำแบบทดสอบการตรวจสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงินในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Stress Test) ในปีนี้พบว่าธนาคารทุกแห่งผ่านบททดสอบไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก แต่ในระยะปีต่อไป ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ" นายเกริกระบุ

อย่างไรก็ตาม NPL ในระบบที่ไม่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการเงินมีความระมัดระวังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินมีการดูแลลูกค้าได้ดี ซึ่ง ธปท. ไม่สามารถบังคับให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้

“ธปท.สามารถสร้างบรรยากาศให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่สถาบันการเงินมีเงินกองทุนเพียงพอ มีความพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว มีสภาพคล่องเพียงพอ มีระบบข้อมูลลูกค้าที่ดีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ธปท. ให้การสนับสนุนเต็มที่ และมีสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงเป็นประโยชน์ในการประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ"

สำหรับภาพการปล่อยสินเชื่อในปี 2553 ที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวดีขึ้น ธปท.ก็คงไม่บังคับให้สถาบันการเร่งปล่อยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ แต่จะดูว่าสถาบันการเงินมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนและสภาพคล่อง

ส่วนความเสี่ยงด้านหลักประกันรายย่อยที่อาจไม่เพียงพอนั้นก็มีบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่อรายย่อย (บสย.) เข้ามาค้ำหลักประกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องในระบบปัจจุบันอยู่ในระดับเกิน 1.7 ล้านล้านบาท มีเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อได้อีกมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ