นักวิชาการค้านสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แนะควรรณรงค์ปชช.ประหยัดพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2009 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชื่นชม สง่าราศี นักวิชาการอิสระ กลุ่มพลังไท กล่าวในงานเสวนาเรื่อง มองรอบด้านพลังงานนิวเคลียร์: บทเรียนจากนานาชาติ เพื่อการตัดสินใจที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ว่า การที่ฝ่ายบริหารอ้างว่าเนื่องจากประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เป็นเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ทางที่ดีรัฐบาลควรทุ่มงบประมาณให้กับการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาประหยัดพลังงานแทนการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีต้นทุนในการก่อสร้างสูงมาก

"ที่ผ่านมารัฐบาล มีการรณรงค์ให้ประชาชนมาประหยัดพลังงาน แต่ก็เพียงแค่เหมือนกับไม้ประดับเท่านั้น เพราะถ้ารัฐบาลจะดำเนินการหาแหล่งงพลังงานเพิ่มเติม ควรให้ความสนใจในการใช้ระบบพลังงานทดแทนมาอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่มากำหนดเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาอยู่ในแผนดังกล่าวเพียงทางเลือกเดียว" นางชื่นชม กล่าว

ขณะที่นายชโลทร แก่นสันติสุขมงคล นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมาธิการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2007 (พีดีพี) ภายใต้คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาของการวางแผนพีดีพี คือ มีการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจากความเป็นจริงเพื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยพบว่ามี 2 หน่วยงานยังมีการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ตรงกัน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) พยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจนถึง ปี 2564 อยู่ที่ 48,958 เมกกะวัต ขณะที่การพยากรณ์ของคณะทำงานอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของสำนักสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พยากรณ์ไว้ที่ 38,788 เมกะวัตต์

"จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)พบว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีมากเกินค่ามาตรฐานถึง 20-35 % จากค่ามาตรฐานที่ 15 % ดังนั้นพลังงานนิวเคลียร์ยังไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยเพราะจะสร้างปัญหาการลงทุนเกิดความจำเป็นจนกลายเป็นภาระของผู้บริโภครวมไปถึงเกิดความขัดแย้งในสังคมจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่" นายชโลทร กล่าว

นายไมเคิล ชไนเดอร์ ที่ปรึกษาด้านพลังงานนิวเคลียร์ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า แนวโน้มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในตอนนี้มีปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทดแทนเพราะที่ผ่านมามีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่าสัดส่วนของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในโลกนี้มีเพียง 14 % เท่านั้น โดยญี่ปุ่นและอินเดียได้ลดลงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ลงมาแล้วตั้งแต่ปี 2547

นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ยังประสบกับปัญหาในเรื่องผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรไม่ทันกับผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่เดิมที่ต้องเกษียณอายุการทำงาน รวมถึงงบประมาณในการก่อสร้างที่ค่อนข้างจะบานปลายมาก จากเดิมที่ได้มีการคำนวนเอาไว้ในช่วงก่อนการก่อสร้าง เช่นฝรั่งเศส ใช้งบประมาณในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บานปลายถึง 80 %

นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานได้พิจารณาแหล่งพลังงานอื่นๆ ด้วย เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และมีผลสรุปออกมาว่า พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดหลายประการ เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงเฉพาะในเวลากลางวัน ซึ่งไม่ได้ตามมาตรฐานสากลที่ต้องมีการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพลังงานลมไม่มีหลักประกันถึงปริมาณแรงลมได้เพราะหากแรงลมอ่อนก็จะทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่มีความเสถียร

ทั้งนี้หากการผลิตไฟฟ้า โดยกำลังไฟฟ้าไม่มีความเสถียรจะทำให้เครื่องจักรในการระบบการผลิตของอุตสาหกรรมเกิดความเสียหายได้และจะเป็นต้นทุนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตามมาในอนาคต ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนเหล่านี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานมากที่สุด

" 2 แหล่งพลังงานดังกล่าวยังไม่มีความเสถียรมากนัก ถ้าเราดำเนินการโดยใช้พลังงานเหล่านี้เป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะส่งผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ปริมาณไฟฟ้าถึง 70 % ของประเทศ" นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานฯอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานและขั้นตอนในการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยเตรียมสรุปขั้นตอนทั้งหมดเพื่อให้ ครม.ตัดสินใจ ภายในปี 53 โดยยืนยันว่าขั้นตอนในการทำงานจะต้องเป็นไปภายใต้แผนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ