(เพิ่มเติม) กกร.เตรียมชงแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่มาบตาพุดให้ กรอ.พิจารณา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2009 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะทำงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เรื่องปัญหาโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เตรียมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)วันพรุ่งนี้ โดยเสนอให้มาบตาพุดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ(special economic zone) เพื่อให้การใช้งบประมาณร่วมของรัฐและเอกชนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว

และเสนอให้ย้ายการจ่ายภาษีของพนักงานในส่วนกลางของบริษัทที่มีการลงทุนในมาบตาพุด ให้มาจ่ายภาษีที่มาบตาพุดแทน ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเพื่อเงินดังกล่าวนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้นด้วย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์, ภาษีนิติบุคคล, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เพื่อแสดงให้เห็นว่าระยองเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับประเทศ

ประกอบกับ จะให้แรงงานทั้งหมดที่ทำงานในมาบตาพุดที่ส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝง ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีทั้งหมดตกเป็นรายได้ของพื้นที่มาบตาพุด และการที่ประชากรเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อรายได้ภาษี และการได้รับจัดสรรงบประมาณและจำนวนผู้แทนราษฏรที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จะต้องหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เช่น กระทรวงมหาดไทย, กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสันติ กล่าวว่า หากการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจะส่งผลให้โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนที่มีโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งตั้งงบลงทุนไว้ราว 1.7 หมื่นล้านบาทต้องชะลอออกไปด้วย ทั้งนี้ภาคเอกชนยืนยันว่ามีความเอาใจใส่ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชน แรงงาน โดยโครงการที่ลงทุนจะดำเนินการอย่างเข้มงวดตามที่ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)

สำหรับ 76 โครงการลงทุน ยืนยันว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นเป็นโครงการที่ช่วยลดมลพิษในมาบตาพุด เพราะการลงทุนโครงการเหล่านี้ได้ต้องลดมลพิษตามมาตรการ 80:20 ที่กำหนด หากลดมลพิษได้ 100% โรงงานสร้างใหม่จะก่อมลพิษได้ 80% ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ชุมชนเห็นด้วย สมัยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ยังเคยเสนอโครงการ ECO Industry Town ต่อรัฐบาลไปแล้ว โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ภาคเอกชน ชุมชน และรัฐบาล จะร่วมกันควบคุมดูแลระดับการปล่อยมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

นายสันติ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมธนาคารไทยได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่ามีความห่วงใยกรณีปัญหาในมาบตาพุด โดยสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อโครงการต่างๆ ที่ได้ EIA และปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด หากไม่ดำเนินการตามจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้

นายนานดอร์ จี วัน เดอ ลู ประธานหอการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยมีมาตรฐานสูงระดับโลกอยู่แล้ว ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐถือว่าผ่านการคัดกรองอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ลงทุนได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น พร้อมสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับท้องถิ่น เพราะคนจำนวนมากได้เข้าไปทำงานในท้องที่ การได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นดีขึ้น ส่วนการระงับ 76 โครงการลงทุนในมาบตาพุด ต้องการให้เร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนเร็วที่สุด เพราะหากยืดเยื้อจะเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในการลงทุน

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ส.อ.ท.กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันมีข้อสรุปจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อแจ้งให้ทราบว่าโครงการยูโร 4 เป็น 1 ใน 76 โครงการที่ศาลปกครองกลางให้ระงับโครงการไว้ก่อน หากโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดให้ใช้น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 ในวันที่ 1 ม.ค.55 ก็ขอให้รัฐชะลอการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวออกไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ