ปลัดคมนาคม เผยรถไฟสายยาวลงภาคใต้ให้บริการแล้ว-รฟท.เร่งรับ พนง.เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2009 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ครม.วันนี้ได้อนุมัติให้ รฟท.รับพนักงานเพิ่มนั้น รฟท.จะเร่งคัดเลือกลูกจ้างประจำฝ่ายช่างกลที่ผ่านการฝึกอบรมจากโรงเรียนวิศวกรรถไฟ เข้าทำงานฝ่ายช่างกล และจะเลื่อนพนักงานช่างกลที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 7 ปี เป็นพนักงานขับรถไฟ โดยเบื้องต้นจะมีพนักงานขับรถไฟเพิ่มประมาณ 60 คน และจะมีพนักงานที่เกษียณอายุอีก 28 คน ที่ได้เริ่มเข้าทำงานขับรถไฟแทนพนักงานที่หยุดงานแล้วด้วย

และภายในวันนี้ขบวนรถไฟจากสุราษฎร์ธานีจะเริ่มให้บริการเดินรถต่อไปถึงปาดังเบซาร์ และในวันพรุ่งนี้รถไฟสายยาวที่ให้บริการเส้นทางภาคใต้จะเปิดให้บริการเป็นปกติแล้ว ส่วนรถไฟสายสั้นยังคงต้องใช้เวลาในการจัดระบบอีก 7-10 วัน จึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ปกติ

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการรถไฟไปยังภาคใต้นั้น ผู้บริหาร รฟท.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ประจำหัวรถจักร และตู้รถไฟ เพื่อที่ดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน รฟท.และผู้โดยสาร และป้องกันกรณีที่พนักงานถูกขู่ด้วย

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบพนักงานกรณีที่ลาป่วยว่าป่วยจริงหรือไม่ หรือกรณีลากิจก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมโดยผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม หากพบว่าลาเท็จจะถูกดำเนินการตามระเบียบ เช่น การตัดเงินเดือน และยังจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. และพนักงานที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ คณะกรรมการ 4 ชุดที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งเพื่อศึกษาปัญหาใน รฟท.ทั้งระบบ รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนา รฟท.จะสรุปผลการศึกษา และเสนอมายังกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในกลางเดือน พ.ย.นี้

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ รฟท. กล่าวว่า การรับพนักงานเพิ่มเป็นสิ่งที่สหภาพฯ เรียกร้องมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมา รฟท.มีปัญหาขาดแคลนบุคลากร แต่การรับพนักงานเพิ่มในขณะนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหากรณีที่พนักงานหยุดงานได้ เพราะการหยุดงานที่เกิดขึ้นเป็นเพราะหัวรถจักรไม่มีความพร้อมในการให้บริการ และอาจมีผลกระทบด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้สหภาพฯ ต้องการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารเข้ามาดูแลการซ่อมรถจักรให้มีความปลอดภัยก่อนที่จะนำไปให้บริการ หรือหากต้องนำมาให้บริการก็ต้องมีข้อตกลงกับพนักงานที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันหากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้โดยสาร ไม่ควรให้พนักงานขับรถไฟรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

"ตามระเบียบเกี่ยวกับข้อตกลงในการว่าจ้าง ฝ่ายบริหาร รฟท.มีหน้าที่ในการจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีความพร้อมเพื่อให้พนักงานปฏิบัติงาน โดยหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นฝ่ายบริหารก็น่าจะเจรจากับสหภาพฯ ไม่ใช่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะหาก รฟท.ยังแก้ปัญหาอย่างนี้ สหภาพฯ ก็จะแจ้งความด้วยเช่นกัน" นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ขบวนรถไฟปล่อยผู้โดยสารกลางทางที่สถานีรถไฟละแมนั้น สหภาพฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุ เพราะเบื้องต้นพบว่าขบวนรถไฟดังกล่าวถูกสั่งให้จอดรอหลีก และให้พนักงานขับรถไปพัก เพราะจะใช้เวลารอนาน แต่ได้เกิดความสับสนของผู้โดยสารและย้ายผู้โดยสารลงจากรถ โดยที่พนักงานขับรถไฟไม่ทราบ ซึ่งการที่จะสั่งหยุดขบวนรถไฟได้นั้นจะต้องเป็นระดับผู้บริหาร และตามหลักของสหภาพฯนั้นจะไม่ให้มีการทิ้งผู้โดยสารระหว่างทางแน่นอน แม้กรณีที่พบว่าหัวรถจักรบกพร่องก็จะเดินรถไฟไปถึงสถานีปลายทาง และแจ้งให้ซ่อมที่สถานีปลายทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ