นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินตำแหน่งตลาดสินค้าเกษตรของไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แล้วพบว่าสินค้าเกษตรสำคัญ 4 รายการ ได้แก่ ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, น้ำมันปาล์ม และเมล็ดกาแฟ ภายใน 5 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 จนถึงปี 58 จะมีส่วนแบ่งตลาดภายในอาเซียนลดลง 1-2% คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,040 ล้านบาท โดยคิดจากฐานการส่งออกสินค้าเกษตรไทยปี 52 ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนประมาณ 10%
โดยข้าวภายใน 5 ปี ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้เวียดนาม 0.5% มูลค่า 13 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 442 ล้านบาท เพราะราคาข้าวขาวไทยสูงกว่าของเวียดนามมาก และผลิตข้าวเวียดนามสูงกว่าไทย ทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในอาเซียน และไทยเป็นอันดับ 2
ส่วนน้ำมันปาล์ม ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้มาเลเซีย 2.6% มูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,564 ล้านบาท เพราะมาเลเซียผลิตได้มากสุดอันดับ 1 ของโลก และขยายการลงทุนเข้าไปในอินโดนีเซีย ส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก
ขณะที่เมล็ดกาแฟ ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้เวียดนาม 0.1% มูลค่า 200,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6.8 ล้านบาท เพราะเวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ยกเว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น 0.1% โดยได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจากอินโดนีเซีย มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 170,000 บาท เพราะไทยครองตลาดอาเซียนสูงถึง 68.6-95.7% ส่วนอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกอันดับ 2 ในอาเซียนมีแนวโน้มส่งออกลดลง เพราะต้องใช้ภายในเป็นหลัก
นายอัทธ์ กล่าวว่า ผลการศึกษายังได้แบ่งสินค้า 4 ชนิด ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นกลุ่มเงิน ไม่มีปัญหาในการเปิดเสรี เพราะไทยครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ส่วนข้าวและน้ำมันปาล์ม เป็นกลุ่มสินค้าไร้ทิศทาง โดยเฉพาะข้าวที่ไทยเคยส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียนมานาน แต่นับตั้งแต่ปี 2547 เสียส่วนแบ่งให้เวียดนาม และครองอันดับ 1 จนทุกวันนี้น้ำมันปาล์มไทยไม่สามารถสู้มาเลเซียได้ ดังนั้นหากเปิด ACE จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะความได้เปรียบของคู่แข่งทั้งต้นทุนและผลผลิต
"รัฐบาลควรเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยอย่างจริงจัง กำหนดงบประมาณ ขั้นตอน ระยะเวลา และการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานทุกระยะ ส่วนน้ำมันปาล์ม ควรขยายพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิตต่อไร่" นายอัทธ์ กล่าว
สำหรับเมล็ดกาแฟจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าตกต่ำ เพราะไทยผลิตน้อย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในประเทศ และมีแนวโน้มพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงกว่าคู่แข่ง ดังนั้นหากเปิด AEC จะทำให้กาแฟจากประเทศคู่แข่งในอาเซียนทะลักเข้ามามากขึ้นเป็นผลเสียต่อเกษตรไทย รัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาและเตรียมพร้อมด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต่อทุนการผลิต และสร้างเอกลักษณ์กาแฟไทยในด้านรสชาติ และกลิ่นให้ต่างจากคู่แข่ง