คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่วว่า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นทางการคลังในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก(G3)และจีน ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและการส่งออกของเอเชียปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง และยังต้องพึ่งพาการกระตุ้นจากภาครัฐต่อไป
กนง.มองว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศยังมีอยู่ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต่ำ ยังมีปัญหาว่างงานและหนี้เสียของสภาบันการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศยังมาจากมาตรการการคลังที่ทำให้การบริโภคสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อไปได้ถ้าแรงกระตุ้นด้านการคลังแผ่วลง ก็แสดงว่าเศรษฐกิจโลกดีขึ้นแล้ว ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะด้านส่งออก
ขณะที่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมหลายสาขามากขึ้น รวมถึงภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นสำคัญ
ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในขณะที่ความไม่แน่นอนที่อาจกระทบการใช้จ่ายในประเทศยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาการลงทุนในเขตมาบตาพุด
"การลงทุนในมาบตาพุดตอนนี้ความไม่แน่นอนมีสูงมาก ปัญหานี้ถ้ารัฐแก้ไขรวดเร็วก็น่าจะจบเร็ว กนง.ประเมินว่าปัญหาตรงนี้จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศและจีดีพีในอนาคต ซึ่งธปท.จะมีการประเมินภาพต่อเศรษฐกิจในการรายงานภาวะเงินเฟ้อ 29 ต.ค.นี้ แต่มาบตาพุดเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัจจัยด้านอื่นด้วย"นายไพบูลย์ กล่าว
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแรงส่งของเศรษฐกิจโลกและผลจากนโยบาย ขณะที่แรงกดดันของเศรษฐกิจต่อภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ