คลังเผย ก.ย.52 และ Q3/52 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2009 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.52 และไตรมาสที่ 3 ปี 52 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งอัตราการว่างงาน ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะทางการคลังอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง

"ตัวเลขเศรษฐกิจแสดงถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่หดตัวลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวเป็นบวกแสดงให้เห็นถึงทิศทางเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย" นายเอกนิติ กล่าว

ขณะที่อัตราการว่างงานกลับมาอยู่ในภาวะปกติที่ 1.2% ของกำลังแรงงานสะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศที่กว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งอยู่ในระดับสูง

กระทรวงการคลังแถลงว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ นโยบายการคลังแบบขาดดุลที่เน้นบทบาทการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่การลงทุนและการบริโภคในภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการขยายตัวการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 21.7% โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัว 50.9%

การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3/52 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ย.หดตัวแค่ 9.6% ต่อปี เทียบกับที่หดตัว 15.2% ต่อปีในเดือน ส.ค. ส่งผลให้ไตรมาส 3/52 ภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัว 13.7% ต่อปี ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 15.5% ต่อปี

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย.ขยายตัวกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกที่ 14.7% ต่อปี และไตรมาส 3/52 ขยายตัวเป็นบวก 1.4% ต่อปี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเดือน ก.ย.หดตัว 4.2% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 10.2% ต่อปี ทำให้ทั้งไตรมาสหดตัว 10.1% ต่อปี ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 18.6% ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ย.อยู่ที่ระดับ 68.4 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในภูมิภาคยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12.9% ต่อปีในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลง ตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณของการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนและไตรมาสก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวลดลงเหลือ 6.6% ต่อปีในไตรมาส 3/52 ดีขึ้นจากก่อนหน้าไตรมาสที่หดตัว 30.2% ต่อปี

หมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในไตรมาส 3/52 หดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ 6.6% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึง 34.1% ต่อปี บ่งชี้ถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน

ด้านการคลังนั้นโยบายการคลังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายรัฐบาลประจำเดือน ก.ย.เท่ากับ 196.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.4% ส่งผลให้ในไตรมาส 3/52 รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 503.2 พันล้านบาท ขยายตัว 21.7% ต่อปี

การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ก.ย.หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทั้งไตรมาส 3/52 มูลค่าการส่งออกหดตัวชะลอลงมาที่ 17.7% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 26.2% ต่อปี บ่งชี้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3 เกินดุลต่อเนื่องที่ 2.0 และ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรยังมีสัญญาณชะลอตัวเล็กน้อย ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.ขยายตัวเป็นบวกที่ 1.0% ต่อปี การท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชียเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ภาคเกษตร ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย.หดตัว 5.1% ต่อปี จากที่เคยหดตัว 0.6% ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะข้าวนาปี ยางพารา และมันสำปะหลัง เนื่องจากฝนตกชุกหนาแน่น เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากมีผลผลิตออกมามากในช่วงต้นปี ประกอบกับราคามันสำปะหลังที่ทรงตัวในระดับต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวมากนัก สอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 3

เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานในเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 4.5 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามีจำนวน 4.8 แสนคน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวน้อยลงมาที่ ติดลบ 1.0% และติดลบ 0.1% ต่อปีตามลำดับ แต่ยังคงติดลบจากปัจจัยฐานราคาน้ำมันที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ