ธนาคารกลางอินเดียเริ่มถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สั่งแบงค์พาณิชย์เพิ่มสำรองสภาพคล่อง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 27, 2009 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางอินเดียมีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น พร้อมกับสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มการสำรองสภาพคล่อง 25% จากเดิม 24% หลังจากปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็น 6.5% จากเดิม 5% ซึ่งถือเป็นการประกาศในทางอ้อมว่า ธนาคารกลางอินเดียเริ่มดำเนินการในขั้นแรกในการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และถือเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินเดียได้ปิดกองทุนพิเศษในการซื้อคืนหลักทรัพย์สำหรับธนาคาร รวมทั้งกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการทางการเงินของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, กองทุนรวม และบริษัทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีผลบังคับใช้ในทันที อีกทั้งยังปิดวงเงินสว็อปอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาคธนาคาร และลดวงเงินการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อการส่งออกลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 15% จาก 50% ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที

ภายหลังการประชุมในวันนี้ ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร หรือ เรโปเรท ที่ 4.75% และคงอัตราดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) ที่ 3.25%

นับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2551 ธนาคารกลางอินเดียได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 5.85 ล้านล้านรูปี หรือ 1.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับ 4.75% จากระดับ 9% และลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรลงสู่ระดับ 3.25% จากระดับ 6%

นายรัมยา เซอร์ยานารายานัน นักวิเคราะห์จาก DBS Group Holdings ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางอินเดียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้ เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่สองในกลุ่ม G20 ต่อจากออสเตรเลียที่ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากราคาสินทรัพย์และราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

บลูมเบิร์กรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 3.25% จากเดิม 3.0% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะค่อยๆชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ