สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นช้าที่สุดในรอบ 10 ปี หลังจากพุ่งขึ้น 1.5% ในไตรมาส 2 ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าซีพีไอไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นเล็กอาจทำให้นายเกล็น สตีเฟน ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมสัปดาห์หน้า
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงทันทีหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานดัชนีซีพีไอไตรมาส 3 เนื่องจากเทรดเดอร์มองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้นายสตีเฟนชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 3.25% จากเดิม 3.0% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% โดยให้เหตุผลว่าหากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำนานเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการรักษาระดับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยที่ 2-3%
ปราสาท พัทคาร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Platypus Asset Management ในซิดนีย์กล่าวว่า "ทุกฝ่ายต่างกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในระยะใกล้นี้จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เราคาดว่าดัชนีซีพีไอไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นน้อยเกินคาดจะทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียไม่เร่งถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน"
รายงานระบุว่า ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 11.4% ในไตรมาส 3 ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4% ส่วนราคาอาหารลดลง 0.8% และต้นทุนด้านสุขภาพลดลง 1%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วงครึ่งปีแรกของออสเตรเลียขยายตัวขึ้น 1% เนื่องจากผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารกลางออสเตรเลียลดอัตราดอกเบี้ยลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 4.25% ในช่วงเดือนก.ย.ปีที่แล้วจนถึงเดือนเม.ย.ปีนี้ อีกทั้งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ บลูมเบิร์กรายงาน