คณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเรียกร้องให้สถาบันการเงินรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ร่วมแบกภาระต้นทุนเมื่อรัฐบาลเข้าเทคโอเวอร์บริษัทการเงินที่ถูกระบุว่า "ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มละลายได้" พร้อมกับออกกฎข้อบังคับเรื่องการบริหารจัดการกับสถาบันการเงินที่หากปล่อยให้ล้มละลายก็จะสร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินทั้งระบบ
บาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวว่า คณะกรรมาธิการและกระทรวงการคลังสหรัฐร่วมกันร่างข้อกฎหมายฉบับดังกล่ว โดยเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้รัฐบาลลดการนำเงินภาษีราษฎรมาใช้ในการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา หลังจากรัฐบาลนำเงินจำนวนมากเข้าไปพยุงกิจการวาณิชธนกิจแบร์ สเติร์นส และอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี)
ทั้งนี้ นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ มีกำหนดจะแถลงร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาคองเกรสในวันพฤหัสบดีที่ 29 ต.ค.และคาดว่าจะมีการลงนามรับรองในวันเดียวกัน
"ไม่เพียงแต่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่บริษัทการเงินต่างๆรวมถึงบริษัทประกันและเฮดจ์ฟันด์ ก็จะต้องมีส่วนในการแบกภาระต้นทุนกับรัฐบาลด้วย โดยเรามีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่หากปล่อยให้ล้มละลายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั้งระบบ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมแบกรับภาระกับรัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์ด้วย" นายแฟรงค์กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติด้วยการลงคะแนนเสียง 67 ต่อ 1 ให้ผ่านร่างฎหมายที่กำหนดให้กลุ่มเฮด์ฟันด์เข้าจดทะเบียนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการฯยื่นมือเข้ามากำกับดูแลกลุ่มเฮดจน์ฟันด์อย่างจริงจัง
ไมเคิล บาร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังสหรัฐซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกเครื่องระบบการกำกับดูแลบริษัทในวอลล์สตรีท กล่าวว่า "คณะกรรมาธิการฯดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดและตอบสนองอย่างจริงจังต่อสถาบันการเงินที่หากปล่อยให้ล้มละลายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั้งระบบ หรือที่เรียกกว่า too big to fail แต่ท่าทีของคณะกรรมาธิการฯย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของรัฐบาลในการป้องกันระบบการเงินไม่ให้ล่มสลาย" บลูมเบิร์กรายงาน