นายสุชาติ เทวีทิวารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารโครงการ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT )เปิดเผยว่าโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 มีผลบังคับใช้ แต่กลับอยู่ในเอกสารท้ายฟ้องร้องกรณีมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน และขณะนี้ PTT ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
ปตท.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการครบถ้วนตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวทางที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการบูรณาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(HIA) และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ใน EIA เรียบร้อยแล้ว และ PTT พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถที่จะอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลกันได้ทั้งธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมและชุมชน
โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทในการออกแบบและติดตั้งระบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด เช่น ระบบลดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (DeNOx) แบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) เป็นแห่งแรกในพื้นที่มาบตาพุด การปรับลดการระบายมลสารตามหลักเกณฑ์ 80:20 (ทุกอัตราระบายมลสาร 100 หน่วยที่โรงงานเดิมปรับลดลงนั้น โครงการใหม่จะสามารถนำไปใช้ได้แค่ 80 หน่วย ซึ่งทำให้เกิดการลดมลสารในพื้นที่ลง 20 หน่วย)
และออกแบบให้ไม่มีการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศที่เป็นอันตราย (Hazardous Air Pollutants) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
รวมทั้งได้ลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด
โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 สามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้ปีละประมาณ 1 ล้านตันเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทุกปี โดยปี 52 คาดว่าไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มราว 700,000 ตันคิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 12,000 ล้านบาท