นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา“Thailand Tomorrow ประเทศไทย 2553"ว่า ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลคงไม่สามารถกำหนดเฉพาะเป้าหมายระยะสั้น แต่จำเป็นต้องวางระบบการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสำหรับระยะยาวด้วย เนื่องจากในอนาคตทุกประเทศต่างเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และทำให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายด้านตั้งแต่ขณะนี้ เพราะการที่เริ่มลงมือทำในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอาจจะสายเกินไป
"เราต้องปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจหลายด้านอย่างเร่งด่วนและอย่าหวังว่าจะทำตอนที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ความตั้งใจของรัฐบาลในการกำหนดทิศทางใหม่ๆ ของประเทศจะต้องมองไกลไปกว่า 1 ปีข้างหน้า"นายกฯ กล่าว
นายกฯ ยังระบุว่า เศรษฐกิจของไทยคงไม่สามารถแยกตัวออกจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่การผูกพันหรือเชื่อมโยงกันคงไม่ใช่จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ภาคเอกชนจำเป็นต้องแสวงหาโอกาสที่ดีที่สุดในการทำตลาดการค้าและการลงทุน เพื่อนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดีทางธุรกิจ
และจากแนวโน้มที่การรวมกลุ่มในการเปิดเสรีทางการค้าและการรวมตลาดเป็นตลาดเดียว เป็นแนวโน้มที่ไม่อาจจะฝืนได้ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ความเสี่ยงจากการเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด และเรียนรู้ที่จะใช้โอกาสจากการเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในระดับสากล เพื่อการเป็นส่วนหนึ่งกับตลาดเดียว รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุน
นั่นคือ การกระตุ้นในระยะที่ 2 ที่ไม่ได้วางแผนเพียงแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร การปรับปรุงระบบโครงสร้าง พื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ บริการด้านการศึกษา สาธารณสุข ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้คืออนาคตของประเทศที่รัฐบาลวางไว้ให้เป็นพื้นฐาน เพื่อพร้อมเผชิญกับความท้าทายจากภายนอก
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน ด้วยการเปลี่ยนจากระบบประชานิยมมาเป็นระบบ สวัสดิการที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในเร็วๆ นี้ไม่ว่าจะเป็นระบบบริการด้านสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพ และระบบการออมแห่งชาติ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อประชาชนในอนาคต
ขณะที่การดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างระบบภาษีจะเริ่มเห็นความชัดเจนมมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะภาษีที่ดินที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ ได้ในปีหน้า
พร้อมกันนี้ นายกฯ เน้นว่าโจทย์สำคัญของรัฐบาลในขณะนี้ คือ แม้ต่างฝ่ายต้องการจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็ว แต่คงไม่มีสิทธิ กลับไปทำในรูปแบบเดิมๆ ต่อไป โดยกรณีปัญหาพื้นที่มาบตาพุดถือเป็นบทเรียนสำคัญของทุกภาคส่วน ที่จากนี้ไปจำเป็นจะต้องแสวงหาความสมดุลให้เกิดกับทุกฝ่าย
นายอภิสิทธิ์ รัฐบาลกำลังพยายามบริหารเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมๆ กับการดูแลประชาชนและการให้ภาคธุรกิจยอมรับและสมัครใจที่จะดำเนินการตามกฎกติกาที่วางไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความเข้าใจตรงกัน คือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องทำควบคู่ไปกับการลดมลพิษและลดผลกระทบให้กับชุมชน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยกับกรณีของมาบตาพุด จึงได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ไปศึกษาว่าจะยังเดินหน้าในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต่อไปหรือไม่ หลังจากที่การลงทุนในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกถึงจุดอิ่มตัว แล้ว โดยได้ให้ไปศึกษาว่า หากจะยังทำโครงการเซาเทิร์น ซีบอร์ด ต่อไปจะมีหลักประกันอะไรให้กับประชาชนในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่หากจะยกเลิกโครงการจะเอาอะไรมาทดแทนการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับประชาชน
ส่วนการแก้ปัญหาทางการเมื่องนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขเช่นกัน แต่กระบวนการปรองดองคงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ดังนั้นรัฐบาลจะพยายามสร้างความเข้าใจแก่สังคมว่า สังคมมาถึงจุดที่ต้องยอมรับความหลากหลาย ยอมรับกติกา และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างระบบให้สังคมอยู่ร่วมกันได้
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ให้การแก้ไขปัญหาการเมืองมากระทบกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองจะต้องทำควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"สังคมได้มาถึงจุดที่ต้องยอมรับความหลากหลาย เลิกฝ้นได้ว่าความหลากหลายจะหมดไป แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะอยู่กับความหลากหลายได้ กระบวนการปรองดองไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป เราต้องให้สังคมผ่านกระบวนการตรงนี้และเข้าใจว่าการยอมรับกติกาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" นายกฯ ระบุ