ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดแผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือน ต.ค.52 โดยปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 52 ขึ้นมาเป็น -3.5% ถึง -2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง -4.5% ถึง -3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 และ ไตรมาส 3/52 เห็นชัดเจนว่าพ้นจากภาวะถดถอยและเข้าสู่การฟื้นตัวแล้ว
ทั้งนี้ ผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)ในไตรมาส 3/52 ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 2/52 ราว 2.1-2.6% แต่ยังหดตัวเมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อนราว -3.5% ถึง -3%
"คณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการเดิมทั้งในปี 52 และ 53 ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น"นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ส่วนในปี 53 คาดว่า GDP จะขยายตัวเป็นบวกราว 3.3-3.5% จากเดิม 3.0-5.0% มีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะโต 1% ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกของไทย นโยบายการเงินการคลังยังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่ความเชื่อมั่นบริโภคและลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น
แต่มองว่าปัจจัยเสี่ยงด้านลบยังมีอยู่มากทั้งเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวช้ากว่าที่คิด ปัญหาการว่างงานสหรัฐ สถาบันการเงินไม่ได้เป็นตัวกลางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ประกอบแนวโน้มราคาน้ำมันที่เร่งสูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศ ประเมินว่ารัฐบาลอาจเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ตามเป้าหมาย และหากถูกกระทบจากความไม่มีเสถียรภาพการเมืองอีกจะทำให้มีปัญหาการเบิกจ่ายรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งปัญหามาบตาพุดจะทำให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลงกว่าในอดีต
*เศรษฐกิจฟื้นตัวยังเปราะบาง ประเมินหากมาบตาพุดชะงักยาวกระทบหนัก
รายงานดังกล่าว ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2/52 ไดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเร่งใช้จ่ายของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่ช่วยให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น, การที่ภาคธุรกิจเริ่มสะสมสินค้าคงคลังในส่วนสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และการฟื้นตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไทยที่เริ่มจากไตรมาส 4/51 จบลงใน 2 ไตรมาส
"เศรษฐกิจผ่านช่วงถดถอยมาแล้ว กนง.มองเศรษฐกิจระยะต่อไปน่าจะขยายตัวดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากจีดีพีต่างประเทศขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียซึ่งดีกว่าที่คาดเอาไว้ในไตรมาส 2 เป็นผลดีต่อการส่งออกไทย ประกอบกับโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่จะทยอยออกมา"นายไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงเปราะบาง โดยหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงต่อไปก็คือ การประคองให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งดูแลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวอย่างยั่งยืนโดยเร็ว
ในขณะที่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งผลกระทบของการตัดสินคดีกรณีมาบตาพุดที่อาจทำให้เกิดการชะลอการลงทุนและส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน การจ้างงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเมินว่าแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 52 จากการกระตุ้นทางการคลังที่จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 52 และปี 53 สูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย ขณะที่แรงกดดันด้านราคาจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับประมาณการเดิมทั้งในปี 52 และปี 53
กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/52 จะเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งบางมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนให้สิ้นสุดลงเมื่อครบ 1 ปี แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 52 ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ของ ธปท.
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากกรณีเลวร้ายของผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดว่าโครงการที่เกี่ยวข้องที่มีการลงทุนไปแล้วจะสามารถเปิดดำเนินการได้ล่าช้าออกไป 4 ไตรมาสเป็นผลให้รายได้สุทธิจากโครงการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 94 พันล้านบาท และโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ จะชะลอการลงทุนออกไป 4 ไตรมาส รวมทั้งสิ้นประมาณ 43 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี กนง.ประเมินว่าความล่าช้าของรายได้และเม็ดเงินลงทุนจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในปี 52 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากจะได้รับผลกระทบเพียงในไตรมาสสุดท้ายเท่านั้น แต่จะเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไป