ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจ หรือดัชนี FCI ในเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 123.7 ซึ่งดีขึ้นจาก 123.1 ในเดือน ส.ค.52 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ด้วยอัตราการเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(%YoY) ที่เร่งขึ้นจาก 8.9% ในเดือน ส.ค.52 มาที่ 11.3% ในเดือน ก.ย.52 อีกทั้งทำระดับสูงสุดของปีนี้ หลังได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นดีดตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นขยับขึ้นจากระดับปิดที่ 653.3 จุด ณ สิ้นเดือน ส.ค.52 มาที่ระดับ 717.1 ณ สิ้นเดือน ก.ย.52
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ดัชนี FCI ในระยะถัดไปอาจเริ่มชะลอการปรับขึ้น หรือทรงตัว สอดคล้องกับต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจที่เริ่มจะก้าวเข้าสู่จังหวะขาขึ้นชัดเจนขึ้น ตามระดับสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีโอกาสตึงตัวมากขึ้น โดยหากพิจารณาการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้นั้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ อันเป็นผลจากความกังวลต่อปริมาณอุปทานพันธบัตรจากภาครัฐที่สูงขึ้น
ควบคู่กับแรงกดดันเงินเฟ้อที่คงจะชัดเจนขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline) ของไทยในเดือน ต.ค.52 คาดว่าจะเริ่มพลิกมาอยู่ในแดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ก่อนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเหนือร้อยละ 3 ในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในจังหวะขาขึ้น สอดรับกับสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ขณะที่ การระดมทุนผ่านตลาดหุ้นอาจสะดุดลงในระยะสั้น จากโอกาสการปรับฐานของดัชนีตลาดหุ้นไทย ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค.52
ส่วนการระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์นั้น ก็อาจเผชิญกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์อาจถูกระบายออกไปตามความก้าวหน้าในการปล่อยสินเชื่อ ที่ได้รับแรงหนุนจากโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา สินเชื่อจะหดตัวจากระดับ ณ สิ้นปี 51 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากคาดว่าสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏขึ้นในไตรมาส 3/52 ในภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องน่าจะทยอยส่งผ่านผลดีลงไปสู่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิต เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เน้นการผลิตเพื่อขายในประเทศ ซึ่งคงได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นและน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภายใต้เงื่อนไขที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในระดับต่ำหรือควบคุมได้)
ปัจจัยดังกล่าวผนวกกับนโยบายการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีจากภาครัฐ น่าจะหนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงและมีความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นกว่าเดิม
อนึ่ง ดัชนี Financial Condition Index(FCI)จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจเอกชน อันมีนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศในอนาคต โดยมีองค์ประกอบหลักได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และดัชนีตราสารหนี้ เพื่อใช้เป็นมาตรวัดภาวะการระดมทุนในตลาดหลักไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้