(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ต.ค.CPI บวกครั้งแรกในรอบปี 0.4 %, Core CPI ลดลง 0.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2009 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ 105.5 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน ต.ค.51 และเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน ก.ย.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.52) ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.7 ลดลง 0.1% จากเดือน ต.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน ก.ย.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ 117.9 เพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือน ต.ค.51 และเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือน ก.ย.52 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.5 ลดลง 0.9% จากเดือน ต.ค.51 และลดลง 0.1% จากเดือน ก.ย.52

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค.52 เมื่อเทียบเดือน ก.ย.52 สูงขึ้น 0.2% เป็นภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเท่ากับเดือนก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบจากราคาสินค้าในหมวดสินค้าและเครื่องดื่มที่ราคาปรับสูงขึ้น เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าโดยสารเครื่องบิน และแบตเตอรี่รถยนต์ โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือนต.ค.สูงขึ้น 0.6%จากเดือนก.ย. เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว

ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในเดือนต.ค.ลดลง 0.1% จากก.ย. เป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่เฉลี่ยลดลงเมื่อเทียกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนต.ค.สูงขึ้น 0.4% เป็นอัตราที่สูงขึ้นเป็นเดือนแรก จากที่ก่อนหน้านั้นติดลบมาต่อเนื่องเป็นเวลา 9 เดือน สาเหตุสำคัญ มาจากการการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 1.6% จากราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป

ส่วนดัชนีในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ดัชนีหมวดเคหะสถาน เพิ่มขึ้น 3.5% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 1.1%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค. เป็นเดือนแรกในปี 52 ที่ปรับตัวขึ้นเป็นบวกเป็นครั้งแรก โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยเริ่มดีขึ้น และเมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็จะทำให้ผู้ผลิตมีความมั่นใจที่จะลงทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มชั่วโมงทำงานที่มากขึ้น

ด้านรัฐบาลเอง ระดับเงินเฟ้อที่เข้าสู่ปกติจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาล ทำให้เห็นว่า 6 เดือน 6 มาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดค่าครองชีพ" เริ่มส่งผลแล้ว และทำให้เกิดการฟื้นตัวในด้านๆ ต่างๆ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนี้ต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการฟื้นตัวอย่างแท้จริง รวมถึงโครงการไทยเข้มแข็งที่ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)น่าจะยังรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคงแล้ว ธปท.จึงจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคลองกันต่อไป

และในช่วงไตรมาส 4/52 คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก โดยคาดว่าทั้งไตรมาส 4/52 จะอยู่ที่ระดับ 1.5% หากมองในแต่ละเดือนแล้วในเดือน พ.ย.คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.4-1.5% ส่วนเดือน ธ.ค.จะอยู่ในระดับประมาณ 2.8-3% ทำให้ทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ -0.9% ซึ่งเป็นไปตามกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชยที่ -1% ถึง 0%

ขณะที่มองเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปี 53 ที่ 3.0-3.5% โดยมีอัตราเฉลี่ยที่ 3.3% เป็นการประเมินจากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 70-80 เหรียญสรอ./บาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ