ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินเฟ้อ Q4/52 เป็นบวก 1.8%,คาดปี 53 เหนือ 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2009 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/52 อาจจะขยายตัวเป็นบวกประมาณ 1.8% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ในปี 52 มีค่าเฉลี่ยติดลบ 0.9% แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่เหนือ 3.0% ในปี 53 โดยมีแรงผลักดันจากปัจจัยด้านอุปทาน(Cost-Push Inflation) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ น่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ประกอบการยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ในปี 53 จะมีสินค้านำเข้าภายใต้กรอบความตกลงการเสรีหลายฉบับที่ปรับลดอัตราภาษีศุลกากรลงเหลือ 0% ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการในประเทศจะต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายในราคาที่ต่ำลง

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI)ในปี 53 จะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป หรือมีค่าเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 2.5% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 53 อาจจะยังคงมีระดับค่อนข้างต่ำอยู่ที่ไม่เกิน 1.5%

"ธนาคารแห่งประเทศไทยมักอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในการติดตามเสถียรภาพราคา เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระดับดังกล่าวน่าจะยังเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อเป้าหมายในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงพึงระวังที่อาจจะมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อในปี 53 คือ ทิศทางราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด โดยถ้าหากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณที่บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพและมีการเติบโตได้สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ อาจเป็นแรงผลักดันให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น

ท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่ถูกกดดันจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณมูลค่าสูงถึง 10% ของจีดีพี บวกกับความเชื่อมั่นที่อาจถดถอยลงของธนาคารกลาง สถาบันการเงินและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของชาติต่างๆ ที่มีต่อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด และอาจกลายมาเป็นปัจจัยที่จะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ให้สะดุดลงได้

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค.52 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศว่ากลับมาเป็นบวกครั้งแรกในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.52 เป็นที่สังเกตว่าเงินเฟ้อยังคงปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด แม้เป็นช่วงเทศกาลกินเจที่สินค้าอาหารมักมีราคาสูงขึ้น สะท้อนแรงกดดันที่มีต่อผู้ประกอบการจากภาวะตลาดที่ยังคงซบเซา ทำให้ผู้ค้าพยายามคงราคาสินค้าไว้เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายซื้อสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ต.ค.ยังคงติดลบ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก.ย.52 โดยเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ