คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ไม่หวั่นไหวหากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองให้สั่งระงับ 181 โครงการลงทุนทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากมั่นใจว่าผู้ประกอบการพร้อมที่จะดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว
"กกร.ไม่หวั่น เพราะเชื่อว่าความบริสุทธิ์ใจในการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ความสมดุลของโครงการลงทุนภาคอุตสหากรรมและชุมชนจะต้องควบคู่กันไป" นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงผลประชุม กกร.
"หุ้นส่วนต่างชาติที่ลงทุนร่วมกันก็มีความคิดแบบนี้ ดังนั้นจึงห้ามไม่ได้ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจะฟ้อง แต่ตราบใดที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ก็เชื่อมั่นผลการกระทำ จะบ่งบอกถึงสิ่งที่ภาคเอกชนทำในที่สุด" นายดุสิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม กกร.ต้องการให้สถานการณ์การชะงักของการลงทุนในขณะนี้จบสิ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และ กกร.ยังสนับสนุนการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา 76 โครงการในมาบตาพุดว่า โครงการใดบ้างที่จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งก็พร้อมจะปฏิบัติตาม
ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยืนยันหลักการว่าโครงการลงทุนทุกๆ โครงการจะเน้นให้ความสำคัญดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการ 80 ต่อ 20 ซึ่งหมายความว่า โครงการลงทุนใหม่จะปล่อยมลพิษออกมาได้เพียง 80 หน่วยเท่านั้น อีก 20 หน่วยคืนให้กับสังคมชุมชน ทั้งนี้เพราะนักลงทุนไม่ต้องการให้โครงการลงสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนใกล้เคียง
"ในส่วน 76 โครงการที่ศาลปกครองระยองมีคำสั่งระงับไว้ก่อนนั้น ทาง กกร.ไม่ต้องการให้ทำแบบเหมารวมทั้งหมด ควรแยกเป็นรายโครงการที่ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เท่านั้น และให้โรงงานกลุ่มนี้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน ส่วนโครงการที่ทำดีอยู่แล้ว ต้องปล่อยให้เดินหน้าต่อไป" นายดุสิต กล่าว
นอกจากนี้ กกร.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) ครั้งที่ 8/2552 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ส.ค.52 ที่ห้ามหน่วยงานของรัฐเขียนสัญญากับเอกชนผูกมัดให้ใช้อนุญาตโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท เพราะเรื่องดังกล่าวไม่มีความเป็นสากลที่นานาประเทศใช้อยู่ ขณะเดียวกันมีหลายสิบโครงการที่ต้องชะลอการลงนามสัญญาเพราะติดขัดมติ ครม.ดังกล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินยังคงไม่มีมาตรการเพิ่มเติมใดๆ เพราะลูกค้าโครงการลงทุนทั้ง 76 โครงการยังคงเดินหน้าโครงการตามปกติ และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดใหญ่ ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้ส่งหนังสือส่งถึงลูกค้าให้โครงการลงทุนทั้งหมดต้องดูแลสิ่งแวดล้อม และทุกโครงการที่ธนาคารได้ให้สินเชื่อไปก็ดำเนินการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการยังไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
"ขณะนี้จะต้องชี้ให้ชัดว่าการที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ต้องการให้เห็นในอุตสหากรรมใด เพราะเอกชนพร้อมดำเนินการอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันการลงทุนของภาคเอกชนดำเนินการตามกฎหมายภายใต้มาตรการ 80:20 ฉะนั้นคงต้องเลือกโครงการไหนว่า เข้าเกณฑ์ที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญก็ต้องทำ แต่ถ้าโครงการไหนไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีปัญหา คงต้องปล่อยไป ปัจจุบัน เอกชนยังคงเดินหน้าลงทุนตามปกติ จ่ายดอกเบี้ยตามปกติ" นายอภิศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนยังไม่รู้สาเหตุและวัตถุประสงค์ของการเตรียมยื่นฟ้องเพิ่มอีก 181 โครงการว่าดำเนินการเพื่อเหตุใด เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ได้มีการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ในกฎหมายยังไม่มีข้อปฏิบัติด้านผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) ที่ชัดเจน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งออกระเบียบและข้อปฏิบัติให้ชัดเจนโดยเร็ว
ส่วนด้านการพัฒนาการขนส่งทางระบบรางของประเทศนั้น กกร.เห็นว่า ในอนาคตการขนส่งระบบรางจะถูกใช้มากขึ้น การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์จึงมีความจำเป็นและน่าจะมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหลายสิบรายผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลผลักดันโครงการรถไฟฟ้าให้ภาคเอกชนไทยมีส่วนในการผลิตชิ้นส่วนป้อนโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตประเทศไทยลงทุนสร้างรถไฟฟ้าก็จะสั่งนำเข้าจากประเทศไทยต่อไป ดังนั้น กกร.จึงจะเสนอต่อเวที กรอ.ให้ตั้งสถาบันพัฒนาขนส่งทางรางและอุตสหากรรมเกี่ยวเนื่องของไทย