(เพิ่มเติม) ครม.ศก.สั่ง กทช.ดูข้อกฎหมายอำนาจออกไลเซ่นส์ 3G ให้ชัด-ทีโอทีชะลอลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.ศก.)ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หารือกันเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต 3G โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

พร้อมกันนั้น ยังมอบหมายให้ตัวแทนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ไปพิจารณาความชัดเจนของข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กทช.ในการออกใบอนุญาต 3G ซึ่งทางตัวแทน กทช.ระบุว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดในช่วงบ่ายวันนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะให้ กทช.หารือข้อกฎหมายกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากมีข้อขัดข้องรัฐบาลก็จะเชิญกฤษฎีกาเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจต่อไป

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งความเห็นและข้อสังเกตุของคณะกรรมการฯให้ กทช.ในประเด็นเงื่อนไขที่ชัดเจนในกรณีการเข้าประมูลของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม และการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานเดิมเพื่อให้ กทช.พิจารณาประกอบการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็น

รวมทั้ง มีข้อสังเกตในประเด็นข้อกฎหมายที่ กทช. อาจพิจารณาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานะและอำนาจหน้าที่ของ กทช.และ กสทช. ตามรัฐธรมนูญ และ ประเด็นการประมูลคลื่นความถี่และการให้ใบอนุญาต 3G จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานฯ พ.ศ.2535 หรือไม่

อีกทั้ง มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชนกับ ทีโอที และ กสท.ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานฯ ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของกระทรวงไอซีที ที่ประชุมเห็นสมควรให้ ไอซีทีควรรอความชัดเจนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และเงื่อนไขของการเปิดประมูลของ กทช.ที่ชัดเจน ก่อนที่ทีโอทีจะดำเนินการลงทุน

ทั้งนี้ หากเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทช.มีผลกระทบต่อโครงการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของ ทีโอที อย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ และหากทีโอทีมีความจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจที่แตกต่งจากเงื่อนไขเดิมที่ คณะรัฐมนตรีเคยให้ความเห็นไว้เมื่อปี 51 ทีโอทีต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตก่อนมีการลงทุนต่อไป

*ICT วิเคราะห์ความเสี่ยงกรณี กทช.ให้ใบอนุญาต 3G

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เสนอเรื่องผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบพร้อมแนวทางแก้ไขจากการออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาซึ่งคณะกรรมการฯเห็นว่า ในประเด็นภาพรวมของการประมูลคลื่นความถี่ของ กทช. ซึ่งในเชิงกฎหมายนั้น ในขณะนี้ กทช.สามารถออกใบอนุญาตได้ตามกฎหมายหรือไม่

เนื่องจาก ขณะนี้ยังไม่มีการคัดเลือกกรรมการ กทช. ทดแทนกรรมการที่หมดวาระและที่ลาออก ซึ่ง กทช.ควรพิจารณาหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

อนึ่ง นายอาทร จันทวิมล ได้ลาออกไปเมื่อ 20 พ.ย.49 ส่วน กทช.อีก 3 คนได้พ้นตำแหน่งด้วยการจับสลากออก ได้แก่ พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.,นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข และ นายเศรษฐพร โดยในวันที่ 23 พ.ย.นี้ วุฒิสภาจะคัดเลือกกรรมการ กทช.ใหม่

นอกจากนี้ ในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใหม่ กสทช. ที่จะต้องตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งขณะนี้กฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณานั้น กทช.จะสามารถออกใบอนุญาต 3G ได้ในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งหากต้องรอให้จัดตั้ง กสทช. แล้วเสร็จอาจส่งผลให้การออกใบอนุญาต 3G ต้องล่าช้าออกไป

ส่วนประเด็น การกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่นคามถี่ 3G ที่ชัดเจนนั้น ขณะนี้ กทช.อยู่ระหว่าง การนำประเด็นข้อห่วงใยที่คณะกรรมการฯให้ไว้ไปทำการรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

คณะกรรมการฯยังเห็นว่า กทช.ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในเรื่องของการเข้าประมูลของผู้ประกอบการ ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เช่น หากผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานจะเข้าประมูลใบอนุญาตดังกล่า คู่สัญญาภาคเอกชนต้องดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานให้เรียบร้อยก่อนการเข้าประมูลใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ปัญหาการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่การออกใบอนุญาต และจะช่วยลดปัญหาการโอนฐานลูกค้า และปัญหาการใช้ทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากสัญญาสัมปทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอให้ กทช.พิจารณารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นมูลค่าใบอนุญาต 3G เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมด้วย ทั้งนี้ กทช.ได้ให้ข้อมูลว่า เงื่อนไขการให้ใบอนุญาต 3G จะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์หลงจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนธ.ค.52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ