(เพิ่มเติม) ครม.ผ่านแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 2-หนุนตั้ง"ไมโครไฟแนนซ์"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เสนอ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2553-2557) และมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน ทั้งการลดต้นทุนจากกฎระเบียบของทางการที่อาจมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน และต้นทุนค่าเสียโอกาส, ลดต้นทุนของระบบจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้ง NPL และ NPA ที่ยังคงค้างอยู่ในระบบสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงเป็นหลักที่แข็งแกร่งแก่ระบบเศรษฐกิจได้ สนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีการอนุญาตให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ในระบบสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดสัญชาติ ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยการควบรวมโดยสมัครใจ

อีกทั้งส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย เช่น เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินฐานราก(ไมโครไฟแนนซ์)เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งทางกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะพิจารณาใบอนุญาตเป็นรายกรณี

นอกจากนี้ เป็นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นใน 5 ด้าน คือ การเพิ่มศักยภาพและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด ด้านสภาพคล่อง และการชำระเงิน, การพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์และขยายบริการให้ทั่วถึง,

การปรับปรุงกฎหมายทางการเงินที่สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินในด้านสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ, ส่งเสริมสักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประเสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการทางการเงิน และ ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรในระบบสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ หลังจากที่แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ได้รับความเห็นชอบในกรอบนโยบายแล้วจะมีการตั้งกรรมการเพื่อดูแลการปฏิบัติการ โดยมีรมว.คลัง เป็นประธาน และธปท.จะชี้แจงทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินทุกแห่งภายในเดือนพ.ย.นี้

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกปี 53-54 จะเน้นส่งเสริมระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการควบรวมกิจการของบริษัทเงินทุนที่เหลือทั้งหมดจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เพื่อให้หมดจากระบบไป และเปิดให้มีการแข่งขันเสรี ส่วนธนาคารรายย่อยที่เพิ่งเปิดตัวในแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ถ้ามีความพร้อมเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบได้ก็สามารถทำได้เลย โดยที่เงินกองทุนต้องมีตั้งแต่ 1 หมื่นล้านขึ้นไป

สำหรับในช่วงที่ 2 ปี 55-56 เป็นการเพิ่มผู้เล่นในประเทศ โดยให้ธนาคารต่างประเทศสามารถขยายสาขาได้เพิ่มเติมอีก 20 สาขา เพิ่มตู้ ATM เป็น 20 ตู้ ขณะเดียวกันจะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ในธุรกรรมที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ทำ

ส่วนช่วงสุดท้ายจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า ธุรกรรมการเงินที่ขาดหายไปมีอะไรบ้าง อาจจะเปิดให้ใบอนุญาตธนาคารต่างประเทศในธุรกรรมที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ทำ

"แผนแรกยังไม่ประบความสำเร็จในการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้นแผนฯ สอง จะมารองรับความต่อเนื่องตรงนี้...ไทยมีแบงก์ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก พอสมควร แต่ตอนนี้ต้องทำตัวให้แข็งแรง ซึ่งขนาดที่ใหญ่ไม่ได้บอกเสมอไปว่าจะมีความแข็งแรง ดังนั้นต้องเร่งทำตัวให้แข็งแรงด้วยเพื่อที่จะรองรับการเปิดเสรีการเงิน" ผู้ว่าธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ