Hot News In Europe: EU เพิ่มคาดการณ์ศก. - ECB+BoE คงดบ. - GM กลับลำไม่ปล่อยมือจากโอเปิล - สนธิสัญญาลิสบอนหมดสิ้นอุปสรรค

ข่าวต่างประเทศ Friday November 6, 2009 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวฟากฝั่งยุโรปรอบสัปดาห์นี้ มีประเด็นเศรษฐกิจที่น่าติดตาม เมื่ออียูยกระดับคาดการณ์เศรษฐกิจในยุโรป หลังมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวและกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยในระยะไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ ขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษประชุมถกนโยบายดอกเบี้ย แต่ที่ตลาดจับตาดูมากที่สุดเห็นจะเป็นท่าทีของธนาคารเกี่ยวกับการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในส่วนของเศรษฐกิจภาคเอกชนนั้น จีเอ็มเบรคเอี๊ยดแผนขายแบรนด์โอเปิล ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลเยอรมนีและแรงงานเมืองเบียร์อย่างมาก นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ยึดครองความสนใจของนักลงทุน ก็มีประเด็นการเมืองสอดแทรกมาบ้าง เมื่อศาลเช็กไฟเขียวประธานาธิบดีลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งจะเป็นการเปิดทางไปสู่การยกระดับสหภาพยุโรปให้มีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นบนเวทีโลก

* EU ยกระดับคาดการณ์เศรษฐกิจยุโรปปี 2553 คาดขยายตัว 0.7%

สหภาพยุโรป (อียู) ได้ยกระดับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปว่าจะดีดตัวขึ้น 0.7% ในปี 2553 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ค.ว่าจะหดตัวลง 0.1% โดยชี้ว่า เศรษฐกิจจะดีดตัวดีเกินคาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัวในระดับที่ชะลอตัวลงในช่วงต้นปีหน้า

โดยอียูคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ จะขยายตัว 0.7% ในปี 2553 และ 1.6% ในปี 2554 หลังจากที่หดตัว 4.1% ในปี 2552

ขณะที่ในกลุ่มยูโรโซน หรือประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 16 ประเทศ จะขยายตัว 0.7% เช่นกันในปีหน้า และ 1.5% ในปี 2554 หลังจากที่หดตัว 4.0% ในปีนี้

โจอาควิน อัลมูเนีย คณะกรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจและการเงินอียู กล่าวว่า เศรษฐกิจกลุ่มอียูกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอย เนื่องจากการใช้มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลและธนาคารกลาง อย่างไรก็ดี หนทางข้างหน้ายังมีความท้าทาย การใช้มาตรการอย่างเต็มที่และการช่วยเหลือธุรกิจการธนาคารเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

* BoE คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% พร้อมเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 2 แสนล้านปอนด์

ธนาคารกลางอังกฤษประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุด 0.5% เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายวานนี้ และตัดสินใจขยายโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) อีก 2.5 หมื่นล้านปอนด์ รวมเป็น 2 แสนล้านปอนด์ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร และดึงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย

โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ธนาคารได้ขยายวงเงินซื้อตราสารพันธบัตรนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันต่อสภาพคล่องและเพิ่มอุปทานเงินในประเทศผ่านทางการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน

จนถึงขณะนี้ BoE ได้ใช้งบไปแล้ว 1.75 แสนล้านปอนด์ในโครงการ QE ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์จากธนาคารและบริษัทอื่นๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จนถึงขณะนี้เศรษฐกิจในอังกฤษยังไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงและยาวนานที่สุดได้

* ECB คงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% ตามคาด

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 1% ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์

การตัดสินใจในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่มีการคาดหมายกันว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยในช่วงปลายปีนี้ แต่การฟื้นตัวก็ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยด้านการจ้างงานที่ยังคงย่ำแย่

ทั้งนี้ อีซีบีได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรเมื่อปี 2542 ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

ด้านนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า อีซีบีจะระบายสภาพคล่องบางส่วนออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกอียูที่ก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นพ้องต้องกันว่าจะเริ่มถอดถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านยูโรภายในปี 2554 ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพในปีหน้า

โดยแถลงการณ์ของรัฐมนตรีคลังอียูระบุว่า เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ยังบ่งชี้อย่างต่อเนื่องว่า การฟื้นตัวกำลังเป็นไปอย่างแข็งแกร่งและจะพึ่งพาตัวเองได้ ดังนั้นสมาชิกอียูทุกประเทศจึงควรที่จะเริ่มต้นปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) ภายในปี 2554 เป็นอย่างช้า

* บอร์ด GM เปลี่ยนใจโหวตเก็บแบรนด์โอเปิล ชี้สถานการณ์ดีขึ้น-ห่วงคู่แข่งเข้าถึงเทคโนโลยี

คณะกรรมการบริหารของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ได้ลงคะแนนเสียงให้คงธุรกิจ โอเปิล ซึ่งเป็นบริษัทลูกในยุโรปไว้ แทนที่จะขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับ แม็กน่า อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์รายใหญ่ของแคนาดา และพาร์ทเนอร์อย่างธนาคารสเบอร์แบงก์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าสถานการณ์ในบริษัทเริ่มดีขึ้นและบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านกลยุทธ์ของแบรนด์

โดยแถลงการณ์ของจีเอ็มระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจีเอ็มในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา มีภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากพิจารณาถึงความสำคัญของหน่วยธุรกิจ “โอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ (Opel/Vauxhall)" ไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกของจีเอ็ม ทำให้คณะกรรมการของจีเอ็ม ต่างพากันลงมติให้มีการเก็บรักษา แบรนด์รถยนต์โอเปิลไว้ และจะเริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างของธุรกิจโอเปิลในภูมิภาคยุโรปอย่างเป็นจริงเป็นจังในทันที ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3 พันล้านยูโร (หรือราว 1.47 แสนล้านบาท)

"จีเอ็มจะเร่งนำเสนอแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทฯต่อรัฐบาลเยอรมนีและรัฐบาลอื่นๆ และคาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติเพื่อการดำเนินการต่อไป" มร. ฟริตซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีเอ็ม กล่าว

การตัดสินใจล่าสุดของบอร์ดจีเอ็มถือเป็นการใส่เกียร์ถอยหลังจากแผนการเดิมที่จีเอ็มเตรียมเปิดทางให้แม็กน่า และ สเบอร์แบงก์ ธนาคารของรัสเซียซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินในการซื้อกิจการครั้งนี้ เข้าถือหุ้น 55% ในโอเปิล

ขณะที่ ซิกฟรีด วูลฟ์ ซีอีโอร่วมของแม็กน่า กล่าวว่า บริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนโอเปิลและจีเอ็มต่อไป และหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนกระบวนการปรับโครงสร้างของโอเปิล

* พนักงานโอเปิลหลายหมื่นคนในเยอรมนีเตรียมหยุดงานประท้วงจีเอ็ม

แต่ทว่าการกลับลำของจีเอ็มในครั้งนี้ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย โดยหนึ่งในนั้นรวมถึงรัฐบาลเยอรมนี ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนแผนการขายธุรกิจโอเปิลด้วยมองว่า การขายกิจการโอเปิลให้แม็กน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรักษาตำแหน่งงานในเยอรมนี เพราะช่วยสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีการปิดโรงงานในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังได้เรียกร้องให้จีเอ็มชำระเงินกู้จำนวน 1.5 พันล้านยูโร

ขณะเดียวกันพนักงานของโอเปิลในเยอรมนีราว 25,000 คนก็ได้นัดหยุดงานประท้วงบริษัทแม่เมื่อวานนี้เป็นวันแรก เนื่องจากเกรงว่าการที่จีเอ็มตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรอาจทำให้โรงงานของโอเปิลในเยอรมนี 2 ใน 4 แห่งจะถูกปิดตัวลง และนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ โอเปิลว่าจ้างพนักงานรวม 54,000 คนทั่วยุโรป ซึ่ง 25,000 รายในจำนวนนี้ประจำอยู่ในเยอรมนี

* จีเอ็มยืนยันแผนปลดพนักงานของโอเปิล 10,000 ตำแหน่ง

และแล้วความหวาดกลัวของพนักงานจีเอ็มก็กลายเป็นความจริง เมื่อเจนเนอรัล มอเตอร์ส ยืนยันแผนปลดพนักงานของโอเปิล 10,000 ตำแหน่งในยุโรป ซึ่งรวมถึงแบรนด์วอกซ์ฮอลล์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของจีเอ็มในอังกฤษ

โดยสหภาพแรงงานของวอกซ์ฮอลล์ ซึ่งมีพนักงาน 5,500 รายในอังกฤษกล่าวถึงจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างโดยสมัครใจ ซึ่งทางเลขาธิการสหภาพกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พร้อมกับเสริมว่า จีเอ็มมีสิทธิ์ที่จะเก็บโรงงาน 2 แห่งของวอกซ์ฮอลล์ในลูตัน และแอลล์สเมียร์ พอร์ทไว้ เนื่องจากประเทศอังกฤษเป็นหนึ่งในตลาดที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่งและมีลูกค้าประจำมากที่สุด

ทั้งนี้ จีเอ็มคาดว่าจะสามารถยื่นรายละเอียดเรื่องแผนการปลดพนักงานให้กับรัฐบาลยุโรปในเร็วๆนี้ พร้อมทำข้อตกลงระหว่างสหภาพกับรัฐบาลในประเทศต่างๆในระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค.ปีหน้า

* ศาลเช็กชี้สนธิสัญญาลิสบอนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปิดทางปธน.ลงนามก่อนมีผลบังคับใช้ทั่วอียูปีหน้า

ศาลรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเช็กตัดสินว่าสนธิสัญญาลิสบอนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เปิดทางให้ประธานาธิบดีวาคลาฟ เคลาส์ สามารถลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจและกำหนดนโยบายภายในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่เดิมประธานาธิบดีเช็กเป็นเสมือนอุปสรรคสุดท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อไม่นานมานี้เขากล่าวว่าจะไม่ต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้อีกต่อไป เนื่องจากเขาพอใจที่สหภาพยุโรปยอมรับเงื่อนไขของเช็กที่ขอเลือกไม่รับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนพ่วงมาในสนธิสัญญาลิสบอน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินของประเทศไม่ให้ถูกอ้างสิทธิโดยชาวเยอรมัน 2.5 ล้านคนที่ถูกขับออกไปจากเช็กโกสโลวาเกียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ ปัจจุบันสาธารณรัฐเช็กเป็นสมาชิกอียูเพียงประเทศเดียวจากทั้งหมด 27 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาลิสบอน และหากประธานาธิบดีเช็กลงนามภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ สนธิสัญญาดังกล่าวก็จะมีผลบังคับใช้ทั่วสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป และจะทำให้ความสนใจหันไปจับจ้องในประเด็นที่ว่าใครจะมารับตำแหน่งประธานอียูคนแรก

* "โทนี่ แบลร์" ส่อแววชวดตำแหน่งประธานคนแรกของอียู

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้นำอียูไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ว่าผู้ใดจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว และอาจต้องมีการจัดประชุมนัดพิเศษขึ้นเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ในเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถือเป็นตัวเก็งที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนโอกาสของเขาจะริบหรี่ลง หลังประสบความล้มเหลวในการขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสังคมนิยมในยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ขณะที่หลายฝ่ายหันไปให้ความสนใจในตัวผู้นำที่มีชื่อเสียงในระดับโลกน้อยกว่าแบลร์ ไม่ว่าจะเป็น แจน ปีเตอร์ บัลเคเนนเด นายกรัฐมนตรีฮอลแลนด์ ปาโว ลิปโปเนน อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ และนายกรัฐมนตรี ฌอง-คล็อด จุงเกอร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ