รมว.คลังอังกฤษย้ำที่ประชุม G-20 ต้องหารือเรื่องวิธีรับมือกับภาวะฟองสบู่ด้านราคาสินทรัพย์

ข่าวต่างประเทศ Friday November 6, 2009 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลิสแตร์ ดาร์ลิง รัฐมนตรีคลังอังกฤษชี้ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G-20 ควรจะหาหนทางรับมือกับภาวะฟองสบู่ด้านราคาสินทรัพย์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำของโลกนั้นเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว และทุกประเทศจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า จะไม่ทำให้เศรษฐกิจต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดวิกฤตและผลพวงต่างๆตามมา

การแสดงความเห็นดังกล่าวช่วยในเรื่องของการกำหนดขอบเขตวาระการประชุม G-20 ที่จะจัดขึ้นในวันนี้ที่เซนต์ แอนดรูว์ ประเทศสก็อตแลนด์ และนับเป็นเสียงสะท้อนของนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์แขนงต่างๆ ตั้งแต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และศาสตราจารย์นูเรียล รูบีนี แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตในปี 2550

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษได้ผ่อนปรนมาตรการฉุกเฉินที่นำมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุม G-20 จะได้มีการหารือกันว่าจะถอนมาตรการฉุกเฉินอย่างไรบ้าง

ธนาคารกลางอังกฤษประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุด 0.5% เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายวานนี้ และตัดสินใจขยายโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) อีก 2.5 หมื่นล้านปอนด์ รวมเป็น 2 แสนล้านปอนด์ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร และดึงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย

บลูมเบิร์กรายงานว่า ศ.รูบินี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ใกล้กับระดับศูนย์ในสหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่นกำลังกดดันค่าเงินดอลลาร์ และยังกระตุ้นราคาสินทรัพย์ให้พุ่งสูงขึ้นอีกด้วย โดยสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำก็ดีดตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลงทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์สูงขึ้นตามไปด้วย

เฮนริค ไมเรลเลส ผู้ว่าการธนาคารกลางบราซิล กล่าวว่า นับเป็นเรื่องจำเป็นที่นานาประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไร้สมดุลและภาวะฟองสบู่ ซึ่งจะต้องมีการนำกฎระเบียบในระดับสากลมาใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ