นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาชาติ ด้วยการกลับมามีบทบาทในเวทีโลกและกลับมาเป็นผู้นำอาเซียนอีกครั้ง โดยเฉพาะความร่วมมือกับอาเซียนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญมาก รวมทั้งเร่งสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศจี 20 โดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ จีน เกาหลี และอินเดีย เพราะขณะนี้สหรัฐมองข้ามไทยไปให้ความสำคัญกับเวียดนาม เกาหลีใต้ สิงคโปร์แล้ว ขณะที่จีนต้องการเข้ามามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้
"ไทยกำลังจะสูญเสียสิ่งนี้ไป ทุกประเทศกำลังมองว่าไทยกำลังป่วย จึงไม่ค่อยเกรงใจเหมือนที่ผ่านมา...ดังนั้นจึงควรเร่งเสนอแผนก่อสร้างและการพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อเสนอเงินกู้มาใช้ก่อสร้าง ไม่ใช่ขอเงินมาก่อนแต่โครงการไม่ชัดเจน รวมถึงไม่ควรมีการตอบโต้ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน และหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงเหล่านี้ไม่ให้เป็นปัจจัยลบต่อการแก้ปัญหาของประเทศ" นายสมคิดกล่าวในงานสัมมนา Thailand Lecture ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)
นายสมคิด กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมาจากปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมานาน เนื่องจากปัญหาการเมืองนอกระบบที่ก่อตัวขึ้นจากคนสองกลุ่มเหมือนกับลมพายุหมุนที่ดึงประชาชนเข้าไปอยุ่ในกลุ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับว่าเป็นการตอกย้ำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมไทยที่ยังมองไม่เห็นว่าจะกลับมาสมานฉันท์กันได้ และพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทุกเวลาที่เกิดความไม่พอใจหรือต้องการสิ่งใด
"สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเมืองในระบบสภาฯ มีความอ่อนแอ เนื่องจากการเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีกลุ่มใดมีอำนาจต่อรองอย่างสมบูรณ์ ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะมีปัญหามาก เพราะเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลสูญเสียพลังงานไปกับการแก้ปัญหาการเมืองแบบรายวัน จึงเป็นภาครัฐที่ไม่เข้มแข้ง" นายสมคิด กล่าว
ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบสภา ความยุติธรรม ธรรมาภิบาล หากเสมอต้นเสมอปลายก็จะเป็นรัฐบาลได้อีกช่วงหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
นายสมคิด กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการลงทุนและการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาวหากไทยไม่เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่ความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการใช้เงินลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งต้องมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในอนาคต เนื่องจากการกู้เงินจะทำให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้นผู้รับผิดชอบต้องชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการใช้หนี้หลังจากต้องกู้เงินสูงถึง 1.43 ล้านล้านบาท ขณะที่นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ไทยต้องไม่เป็นผู้ตกขวบนรถไฟที่จะก้าวเป็นศูนย์การค้าการลงทุนแห่งใหม่ของโลกมาอยู่ที่เอเชีย สำหรับ ธปท.ต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่มุ่งควบคุมเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องดูแลทั้งสถาบันการเงิน และการขาดดุลเงินบัญชีเดินสะพัด เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่ จึงเป็นโอกาสของเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และรองรับกระแสเงินทุนที่จะไหลกลับเข้ามา จากเดิมเงินออมในแถบเอเชียที่เคยออกไปลงทุนหาผลตอบแทนในยุโรป สหรัฐ และประเทศอื่นในแถบตะวันตก เมื่อเจอปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในอาเซียนเหมือนเดิม เพื่อทำให้มีการเชื่อมต่อการเงินกับเอเชียได้มากขึ้น
ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อกังวลว่ารัฐบาลกู้เงินมาใช้ในโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งจะทำให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงนั้น ในอนาคตจะมีสัดส่วนลดลงจาก 60% ของจีดีพี เหลือในระดับเดิมที่ 38% ของจีดีพี การบริหารจัดการทางการคลังเหมือนกับช่วงแก้ปัญหาวิกฤติในปี 40 ด้วยการพยายามทำให้การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายต้องไม่ขยายตัวมากกว่ารายได้ โดยรายได้เติบโตเกิน 5% ซึ่งคาดว่าภายในปี 2558 จะเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลจากเดิมที่ใช้งบประมาณขาดดุลในปัจจุบัน
การควบคุมเงินลงทุนต่องบประมาณไม่ให้เกิน 25% ของงบประมาณ และกำหนดภาระหนี้ต่องบประมาณไม่ให้เกิน 15% และน่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้พอชำระหนี้ เพราะจากแนวโน้มในการจัดเก็บภาษี สำหรับงบประมาณปี 2553 เกินเป้าหมาย คาดทั้งปีงบประมาณจะเกินเป้าหมาย 74,000 ล้านบาท เนื่องมาจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจึงจัดเก็บภาษีมูลเพิ่มได้สูงขึ้น ขณะที่การลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง ทำให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจต่อเนื่องจ่ายภาษีมากขึ้น หากไม่มีปัจจัยทางการเมืองและราคาน้ำมันผันผวนส่งผลกระทบรุนแรง