อินเดียจ่อคิวถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังนายกฯอินเดียแย้มเศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Monday November 9, 2009 07:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า อินเดียจะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนายมานโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวในที่ประชุมสุดยอดเศรษฐกิจแห่งอินเดียซึ่งจัดโดย World Economic Forum ในเมืองนิวเดลี ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วขึ้นอาจทำให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"มีสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังทะยานสู่ช่วงขาขึ้น อินเดียก็เหมือนกับประเทศอื่นๆที่ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่น่าพอใจแล้ว เราก็อาจจะเริ่มชะลอการใช้มาตรการดังกล่าวในปีหน้าซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม" นายซิงห์กล่าว

นายซิงห์ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 6.5% ในรอบปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2553 เนื่องจากฝนที่ตกลงมาน้อยทำให้อินเดียผลิตพืชผลทางการเกษตรได้น้อยลง แต่คาดว่าในฤดูฝนซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.2553 การผลิตพืชผลทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้นและจะหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นกว่า 7%

ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจอินเดียทำให้ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่างบริษัท วอล-มาร์ท สโตเรส ร่วมทุนกับบริษัท บาร์ตี กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของอินเดีย เปิดร้านค้าปลีก "cash & carry" มากถึง 40 สาขาในอินเดีย และวางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 10-15 สาขาในอีก 3 ปีข้างหน้า

การแสดงความคิดเห็นของนายซิงห์ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า อินเดียจะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงข้ามกับสหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในกลุ่ม G20 ที่กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้

บลูมเบิร์กรายงานว่า อินเดียส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมาธนาคารกลางอินเดียมีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น พร้อมกับสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มการสำรองสภาพคล่อง 25% จากเดิม 24% ซึ่งถือเป็นการประกาศในทางอ้อมว่า ธนาคารกลางอินเดียเริ่มดำเนินการในขั้นแรกในการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และถือเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินเดียได้ปิดกองทุนพิเศษในการซื้อคืนหลักทรัพย์สำหรับธนาคาร รวมทั้งกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการทางการเงินของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, กองทุนรวม และบริษัทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีผลบังคับใช้ในทันที อีกทั้งยังปิดวงเงินสว็อปอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาคธนาคาร และลดวงเงินการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อการส่งออกลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 15% จาก 50% ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ