IMF ชี้อัตราดอกเบี้ยต่ำส่งผลเงินดอลล์พลิกสถานะเป็นแหล่งระดมทุนผ่านธุรกรรม carry trade

ข่าวต่างประเทศ Monday November 9, 2009 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐกำลังทำให้เกิดกระแสการระดมทุนทั่วโลกในรูปของการทำ carry trade หรือการกู้ยืมเงินดอลลาร์มาซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง พร้อมกับแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะไร้ดุลยภาพทางการเงินระลอกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงานว่า "มีข้อมูลบ่งชี้ว่าดอลลาร์สหรัฐกำลังกลายเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนใช้ระดมทุนผ่านการทำธุรกรรม carry trade ซึ่งธุรกรรมประเภทนี้อาจสร้างแรงกดดันให้กับสกุลเงินยูโรและบางสกุลเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐมีความแข็งแกร่งอันเนื่องมาจากนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในรูปแบบนี้"

ศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า นักลงทุนกำลังกอบโกยผลประโยชน์จากสกุลเงินดอลลาร์ผ่านการทำ carry trade อย่างคึกคัก ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการที่นักลงทุนแห่ซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ 0% นั้น อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานตลาดปริวรรตเงินตราถูกบิดเบือนไป เพราะนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพียงเพราะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่า

"ยิ่งอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐมีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับใกล้ 0% ต่อไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า นักลงทุนก็ยิ่งเข้าทำ carry trade สกุลเงินดอลลาร์กันมากขึ้น ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทายของสหรัฐ และสกุลเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนแอมาก" บอริส ชลอสเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านปริวรรตเงินตราจาก GFT Forex ในนิวยอร์กกล่าว

บลูมเบิร์กรายงานว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงไปแล้ว 13% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในตะกร้าเงินในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา และดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงอีกเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พ.ย. พร้อมกับยืนยันว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงปีหน้า หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) ประจำเดือนต.ค.ร่วงลง 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์บลูมเบิร์กคาดว่า จะลดลง 175,000 ตำแหน่ง แต่ยังน้อยกว่าตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.ที่ร่วงลง 219,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานเดือนต.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 10.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีครึ่ง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ