รมว.การค้าสิงคโปร์แนะเอเชียถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 10, 2009 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลิม ฮอง เกียง รมว.การค้าสิงคโปร์กล่าวว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เร็วกว่าในภูมิภาคอื่นๆ จำเป็นต้องศึกษายุทธศาสตร์การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของตนเองอย่างระมัดระวัง โดยชี้ว่าเศรษฐกิจของ 21 ชาติสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) มีการฟื้นตัวในระดับที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยกรอบเวลาที่แตกต่างกันในการถอนมาตรการดังกล่าว เพราะการเร่งถอนมาตรการก่อนเวลาอันควรอาจส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจประสบภาวะชะงักงัน

"เอเชียไม่สามารถแยกตัวออกจากระบบเศรษฐกิจโลกได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องศึกษายุทธศาสตร์การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันตามมา ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศในเอเชียจะต้องหันหน้าหารือกันและแบ่งปันให้ประเทศเพื่อนบ้านรู้ถึงสถานะทางเศรษฐกิจของเรา ผมมองว่าสำหรับบางประเทศ อาทิ สหรัฐและญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้องรักษานโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนปรนเอาไว้ ในขณะที่บางประเทศมองว่าการใช้นโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาวะในตลาดการเงินของประเทศตนเอง" นายลิมกล่าว

บลูมเบิร์กรายงานว่า สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ 21 ชาติสมาชิกเอเปคในระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย.นี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะมุ่งประเด็นระยะยาว รวมถึงเรื่องการสนับสนุนการค้าและการเปิดตลาดหลังจากเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปคฟื้นตัวจากภาวะถดถอยแล้ว

ชาติสมาชิกเอเปคซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขจีดีพีโดยรวมของโลก ได้ลงนามในข้อตกลง “Bogor Declaration" เมื่อปี 2537 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปิดการค้าเสรีในประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มเอเปคภายในปี 2553 และในประเทศตลาดเกิดใหม่ภายในปี 2563

"เป้าหมาย Bogor กำหนดไว้ค่อนข้างกว้างมาก เรามองว่านั่นเป็นเป้าหมายทางจิตวิทยาที่อาจสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเดินไปให้ถึง และหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็จะพบว่าชาติสมาชิกเอเปคพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น"

การแสดงความคิดเห็นของนายลิมมีขึ้นหลังจากที่ประชุม G20 มีมติใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม G20 ได้เตรียมแนวทางการถอนมาตรการดังกล่าวเอาไว้แล้ว นอกจากนี้ การแสดงความเห็นของนายลิมยังมีขึ้นหลังจากออสเตรเลียและอินเดียเริ่มส่งสัญญาณการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ