สนง.สถิติเผย 6 เดือนแรกปีนี้ คนไทยมีหนี้สิน 61% ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2009 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบสรุปผลเบื้องต้นการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 52 ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน จากครัวเรือนทั่วประเทศ 26,000 ครัวเรือน

พบว่า รายได้ครัวเรือน ช่วง 6 เดือนแรกปี 52 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 21,135 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน (72.2%) ได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือน จากการทำธุรกิจ และจากการทำการเกษตร และมีรายได้ที่ไม่เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับจากการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐ (10.3%) รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ย (1.5%) นอกจากนั้นยังมีรายได้ในรูปแบบสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่าง ๆ (14.3%)

ด้านค่าใช้จ่าย ใน 6 เดือน พบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,225 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ 33.5% เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งมีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแฮลกอฮอล์ 1.5%) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.5% ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.5% ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า 5.5% ในการสื่อสาร 3.2% และใช้ในการบันเทิง/จัดงานพิธี ใช้ในการศึกษาค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล ประมาณ 2-2.5% กิจกรรมทางศาสนามีเพียง 1.1% แต่ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ดอกเบี้ย สูงถึง 12.1%

สำหรับหนี้สินครัวเรือนช่วง 6 เดือนแรกปี 52 พบว่า ครัวเรือนมีหนี้สิน 61.8% โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 133,293 บาท/ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ 68.8% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือนคือ ซื้อบ้าน/ที่ดิน 36.3% ใช้ในการอุปโภคบริโภค และหนี้ที่ใช้ในการศึกษามีเพียง 2.8 %เท่านั้น สำหรับหนี้สินเพื่อทำการเกษตรและทำธุรกิจมีใกล้เคียงกันประมาณ 14.8%

ทั้งนี้ ครัวเรือนที่มีหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินในระบบ อย่างเดียว 82.9% และเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ 9.7% สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียง 7.4% โดย พบว่า จำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ ถึง 21 เท่า คือ เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 127,152 บาท และเป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ย 6,140 บาท/ครัวเรือน

ขณะที่พบว่าในรายภาค กรุงเทพฯและปริมณฑล มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 36,745 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือค่าใช้จ่าย 27,636 บาท/ครัวเรือน และหนี้สิน 188,404 บาท/ครัวเรือน ขณะที่ครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึง 81.5% ทำให้มีเงินออมหรือชำระหนี้ได้น้อยกว่าภาคอื่น

ทั้งนี้พบว่า ครัวเรือนทีมีอาชีพนักวิชาการ นักบริหาร ผู้ปฏิบัติวิชาชีพยังมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดที่ 48,838 บาท แต่ก็พบว่ามีรายจ่ายสูงและหนี้สูงตามมา ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกรรม ประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์หาของป่ามีรายได้เฉลี่ย 9,073บาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ครม.ยังรับทราบรายงานสรุปความคืบหน้าของโครงการไทยเข้มแข็ง ณ วันที่ 6 พ.ย. 52 พบว่า โครงการในกระทรวงคมนาคม 98 โครงการ เบิกจ่ายงบ 602 ล้านบาทและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลัง 5โครงการ เบิกจ่ายงบ 1.45 หมื่นล้านบาทก็ดำเนินการเสร็จแล้วเช่นกัน

ส่วนโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้ว กว่า 1,005 โครงการของกระทรวงคมนาคม ได้เบิกงบแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ ขณะที่กว่า 20,772 โครงการของหลายหน่วยงานกำลังอยู่ในสถานะจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 1.73 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลสามารถประหยัดจากการจัดซื้อจัดจ้างได้ถึง 260 ล้านบาท



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ