นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้จัดทำแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเน้นการพัฒนา 4 ด้านหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐาน ด้านทรัพย์สิน ด้านบุคลากรและอัตรากำลัง และด้านกฎหมาย และเตรียมนำเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันพรุ่งนี้ (11 พ.ย.52)
ทั้งนี้มั่นใจว่าแผนการพัฒนาดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากครม.เศรษฐกิจ เพราะเป็นการพัฒนาตามลำดับความจำเป็นในการแก้ปัญหาของรฟท. ขณะที่งบประมาณที่จะนำมาใช้บางส่วนอยู่ภายใต้โครงการลงทุนตาม แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ระยะ 2 ดังนั้นเชื่อว่าหากสามารถดำเนินการได้ตามตามแผน จะทำให้ รฟท. มีผลกำไรได้ในที่สุด ว่าแผนดังกล่าวจะช่วยทำให้รฟท.มีกำไรได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ตามแผนดังกล่าวได้ผ่านการยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจพนักงาน รฟท. เนื่องจากแผนมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยตั้งบริษัทลูกเพียงแห่งเดียว คือบริษัทเดินรถในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ส่วนโครงสร้างการบริหารที่เหลือจะเป็นการตั้งหน่วยงานธุรกิจ
ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เป็นการบูรณะเส้นทางเดินรถเดิม และเพิ่มเติมหัวรถจักร ซึ่งต้องดำเนินการระหว่างปี 53-57 วงเงินประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงความแข็งแรงของทาง ระยะทาง 2,272 กม. โครงการเปลี่ยนหมอนรองราง ระยะทาง 1,382 กม. โครงการเปลี่ยนรางให้เป็นขนาด 100 ปอนด์ ระยะทาง 2,835 กม. โครงการเปลี่ยนประแจและระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 223 สถานี โครงการเร่งรัดปรับปรุงฝูงหัวรถจักร โดยจัดหาหัวรถจักรใหม่ทดแทนหัวรถจักรเดิม จำนวน 77 คัน และซ่อมบำรุงขนาดใหญ่หัวรถจักร ALSTOM จำนวน 56 คัน โครงการเร่งจัดหาระบบล้อเลื่อน โดยจัดหารถโดยสารรูปแบบชุด 6 ขบวน รถโดยสารดีเซลปรับอากาศ 20 ขบวน รถดีเซลรางธรรมดา 58 คัน และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 308 คัน
ส่วนระยะที่ 2 เป็นการขยายโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่ซึ่งจะขยายไปยังภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตก ใต้ และตะวันออก รวมระยะทาง 2,651 กม. และโครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินประมาณ 392,348 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเพิ่มสายทางคู่ทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 324,710 ล้านบาท และระยะที่ 3 ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ใน 4 เส้นทางหลัก คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-จันทบุรี และกรุงเทพฯ-ปาดังเดซาร์ วงเงินประมาณ 708,855 ล้านบาท
ขณะที่แผนการพัฒนาด้านทรัพย์สินว่า ต้องมีการจำแนกประเภทที่ดินที่มีอยู่ให้ชัดเจน คือ ที่ดินที่ใช้ในกิจการเดินรถไฟ จำนวน 198,674.76 ไร่ ซึ่งจะมีการรายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาพื้นที่ในสถานี โดยจะเริ่มนำร่องจากสถานีหัวหิน และอยุธยา และที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ จำนวน 36,302.19 ไร่ จะนำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ โดยจะแบ่งที่ดินออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ที่ดินศักยภาพสูง จำนวน 7,547.32 ไร่ เช่น ที่บริเวณย่านพหลโยธิน รัชดาภิเษก มักกะสัน และแม่น้ำ 2.ที่ดินศักยภาพกลาง จำนวน 7,218.12 ไร่ และ3.ที่ดินศักยภาพต่ำ จำนวน 21,536.80 ไร่
ส่วนแผนพัฒนาด้านบุคลากรและอัตรากำลังนั้น รฟท.จะปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 หน่วยธุรกิจ คือ 1.ฝ่ายการเดินรถ 2.ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน 3.ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุง และมี 1 บริษัทเดินรถโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และช่วยให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเดิมการแบ่งงานไม่ชัดเจน ทำให้การบริหารงานและการแก้ปัญหาต่างๆไม่เบ็ดเสร็จ
และการพัฒนาด้านกฎหมาย จะต้องขอยกเว้นมติครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.41 เรื่องการงดรับพนักงานใหม่ ที่กำหนดให้สามารถรับพนักงานในตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถ และตำแหน่งที่ใช้วุฒิพิเศษ ได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุ ซึ่งส่งผลให้รฟท.ขาดแคลนบุคลากร