คลัง เผยยอดหนี้สาธารณะสิ้นเดือน ก.ย.อยู่ที่ 45.55% ต่อจีดีพี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย.52 มีจำนวน 4,001,942 ล้านบาท หรือ 45.55% ของ GDP โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,586,513 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,108,580 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 208,702 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 98,147 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้วหนี้สาธารณะลดลง 16,236 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลง 22,849 ล้านบาท ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 2,647 ล้านบาท 2,839 ล้านบาท และ 1,127 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง

การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยรายการที่สำคัญมาจากการชำระคืนต้นพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ.2545(FIDF 3) ที่ครบกำหนดวงเงิน 54,246 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาชำระคืนต้นเงินกู้บางส่วนสมทบกับเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง(FIDF 1 และ FIDF 3) มาทดรองจ่ายไปก่อน ส่วนที่เหลือกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินระยะยาวจำนวน 23,162 ล้านบาท และกู้เงินระยะสั้นจำนวน 13,935 ล้านบาท จากนั้นจึงทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ในเดือน ก.ย.-ต.ค.52 เพื่อทยอยชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังดังกล่าว ซึ่งในเดือน ก.ย.52 ได้ดำเนินการประมูลพันธบัตรดังกล่าวแล้วจำนวน 8,000 ล้านบาท และนำเงินที่ได้จากการประมูลไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในเดือน มิ.ย.52 วงเงิน 37,740 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เป็น Bridge Financing ในการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,647 ล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ในประเทศ รายการที่สำคัญเกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้ออกพันธบัตรจำนวน 6,955 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร จำนวน 3,200 ล้านบาท

ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,839 ล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ได้ออกพันธบัตรจำนวน 3,000 ล้านบาท

ขณะที่หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 1,127 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตั้งดอกเบี้ยค้างจ่ายพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หนี้สาธารณะ 4,001,942 ล้านบาท แยกเป็น หนี้ต่างประเทศ 384,377 ล้านบาท หรือ 9.60% และ หนี้ในประเทศ 3,617,565 ล้านบาท หรือ 90.40% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,600,958 ล้านบาท หรือ 89.98% และหนี้ระยะสั้น 400,984 ล้านบาท หรือ 10.02% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ