ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติใช้งบ 1 แสนลบ.เพื่อพัฒนารถไฟทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.ศก.) เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยอนุมัติกรอบงบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงระบบรางรถไฟทั่วประเทศ การจัดซื้อหัวรถจักร รวมทั้งพัฒนาบุคลากร

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ถึงรายละเอียดโครงการและแหล่งเงินทุนให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน แล้วเสนอกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกรอบความเป็นไปได้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง โดยให้เวลาศึกษา 3 เดือน ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร, กรุงเทพฯ-หนองคาย 615 กิโลเมตร, กรุงเทพฯ-จันทบุรี 330 กิโลเมตร และกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ 985 กิโลเมตร

โดยเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีให้ศึกษาเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกรุงเทพฯ-จันทบุรี ก่อนให้เสร็จภายใน 45 วัน และรายงานกลับมาให้ทราบ

สำหรับแผนพัฒนา รฟท.ที่กระทรวงคมนาคมเสนอต่อที่ประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนเป็นการบูรณะเส้นทางเดินรถเดิม และเพิ่มเติมหัวรถจักร ซึ่งต้องดำเนินการระหว่างปี 53-57 วงเงินประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงความแข็งแรงของทางระยะทาง 2,272 กม., โครงการเปลี่ยนหมอนรองรางระยะทาง 1,382 กม., โครงการเปลี่ยนรางให้เป็นขนาด 100 ปอนด์ระยะทาง 2,835 กม.,

โครงการเปลี่ยนประแจและระบบอาณัติสัญญาณจำนวน 223 สถานี, โครงการเร่งรัดปรับปรุงฝูงหัวรถจักร โดยจัดหาหัวรถจักรใหม่ทดแทนหัวรถจักรเดิมจำนวน 77 คัน และซ่อมบำรุงขนาดใหญ่หัวรถจักร ALSTOM จำนวน 56 คัน, โครงการเร่งจัดหาระบบล้อเลื่อน โดยจัดหารถโดยสารรูปแบบชุด 6 ขบวน รถโดยสารดีเซลปรับอากาศ 20 ขบวน รถดีเซลรางธรรมดา 58 คัน และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 308 คัน

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการขยายโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะขยายไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคตะวันออก รวมระยะทาง 2,651 กม. และโครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินประมาณ 392,348 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเพิ่มสายทางคู่ทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 324,710 ล้านบาท

และระยะที่ 3 ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทางหลัก คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-จันทบุรี และกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ วงเงินประมาณ 708,855 ล้านบาท

ขณะที่แผนการพัฒนาด้านทรัพย์สินจะจำแนกประเภทที่ดินที่มีอยู่ให้ชัดเจน คือ ที่ดินที่ใช้ในกิจการเดินรถไฟ จำนวน 198,674.76 ไร่ ซึ่งจะมีการรายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาพื้นที่ในสถานี โดยเริ่มนำร่องจากสถานีหัวหิน และพระนครศรีอยุธยา และที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ จำนวน 36,302.19 ไร่ จะนำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ที่ดินศักยภาพสูงจำนวน 7,547.32 ไร่ เช่น ที่บริเวณย่านพหลโยธิน รัชดาภิเษก มักกะสัน และริมแม่น้ำ 2.ที่ดินศักยภาพกลางจำนวน 7,218.12 ไร่ และ 3.ที่ดินศักยภาพต่ำจำนวน 21,536.80 ไร่

ส่วนแผนพัฒนาด้านบุคลากรและอัตรากำลังนั้น รฟท.จะปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 หน่วยธุรกิจ คือ 1.ฝ่ายการเดินรถ 2.ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน 3.ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุง และมี 1 บริษัทเดินรถโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และช่วยให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเดิมการแบ่งงานไม่ชัดเจน ทำให้การบริหารงานและการแก้ปัญหาต่างๆไม่เบ็ดเสร็จ

และการพัฒนาด้านกฎหมาย จะต้องขอยกเว้นมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.41 เรื่องการงดรับพนักงานใหม่ ที่กำหนดให้สามารถรับพนักงานในตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถ และตำแหน่งที่ใช้วุฒิพิเศษได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุ ซึ่งส่งผลให้ รฟท.ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ