ประธาน ธสน.แนะไทยเน้นสัมพันธ์อาเซียน-ปท.เพื่อนบ้านหลังโครงสร้างโลกเปลี่ยนยุค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ในงานสัมมนาเรื่อง"การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก"ว่า หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งปี 52 ถือเป็นการของการเปลี่ยนแปลงของไทย โดยที่การปัญหาการเมืองในประเทศที่มีการแบ่งแยกทางการเมือง ทำให้ภาครัฐมีบทบาทจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเริ่มเริ่มปรับเปลี่ยน โดยสัดส่วนจีดีพีของประเทศในเอเซียต่อโลกเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 26% ในปี 52 และเศรษฐกิจของเอเซียฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของการค้าโดยเฉพาะระหว่างประเทศในเอเซียด้วยกัน ดังนั้นภูมิภาคเอเซียจากนี้ไปจะเป็นตัวนำการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับขั้วและโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ของโลก จากเดิมที่เน้นความสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐเพื่อขยายการค้าการลงทุน แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคหลังตะวันตกนิยม ไทยต้องสร้างสัมพันธ์พิเศษกับประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามที่มีพื้นที่ติดต่อไทย ซึ่งมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนได้มาก

รวมถึงการขยายการส่งออกสู่ตลาดเอเซียตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และอินเดีย กลุ่ม Shanghai Economic Cooperation (จีน รัสเซีย ปากีสถาน อุสเบกิสถาน คาซัคสถาน) กลุ่มอียู และตลาดตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ

อย่างไรตาม มองว่าช่วงที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไทยมีการออกมาตรการตั้งรับผลกระทบได้ดี ทั้งมาตรการการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การรักษาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ และการดูแลเสถียรภาพค่าเงิน ขณะที่มาตรการการคลัง ที่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินภาครัฐ มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการไทยเข้มแข็ง ต้องเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง

"ปัญหาการเมืองในประเทศเชื่อว่าเรายังคงอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อไป เพียงแต่อย่าให้การเมืองเกิดการกระเพื่อม หรือเกิดปัญหารุนแรงเหมือนที่ผ่านมา" นายณรงค์ชัย กล่าว

ประธานกรรมการ เอ็กซิมแบงก์ เสนอแนะว่า ตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นไป ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งรัดโครงการลงุทนเพื่อมุ่งสร้างความแข่งขันและความสามารถการแข่งขัน โดยพัฒนาการค้า การลงทุนในสินค้าและบริการที่มีพื้นฐานจากเกษตรกรมและทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรม หัตถกรรม บริการที่มีความคิดสร้างสรรค์ ศิลป วัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง ลดการพึ่งพาตลาดตะวันตกและบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตก และสร้างความสมานฉันท์กับโลกมุสลิม

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในเรื่อง"ความคาดหวังของรัฐบาลต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ"ว่า จากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากไทยได้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นถึง 8 แสนคน

แต่จากการที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ และโครงการลงทุนภาครัฐ ตามโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งกลายเป็นความคาดหวังของรัฐบาลที่จะหยุดวงจรขอปัญหาการตกงาน จนกระทั่งขณะนี้ปัญหาการว่างงานลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการว่างงานลดลงเหลือเพียง 450,000 คน คิดเป็น 1.2%ของกำลังแรงงาน

ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 52 แต่การเติบโตยังต่ำกว่าศักยภาพ โดยทั้งปี 52 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3% หากไม่มีสถานการณ์การเมืองรุนแรงส่งผลกระทบ ส่วนปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ในอัตรา 2.5-4.1%

อย่างไรก็ตามภาครัฐจำเป็นต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานให้เอกชนแข่งขันได้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลดต้นทุนด้านขนส่ง และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพในอัตรา 5.0-5.5% ภายในปี 55 ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีการเร่งรัดโครงการลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งให้เป็นไปตามเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ